กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ด้านวิชาการและวิจัยพัฒนาวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ พิธีลงนามความร่วมมือจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ที่จะช่วยกันสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ของไทยอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของวงการแพทย์ไทยในระดับสากล และส่งผลต่อการมีสุขภาพดีของคนภายในประเทศต่อไป
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่จะทำให้องค์ความรู้และผลงานที่เป็นผลิตภัณฑ์ ขยายผลออกไปในวงกว้าง รวมถึงร่วมมือวิจัยและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งผลที่ได้ จะเป็นประโยชน์ต่องานสาธารณสุขของประเทศ ดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จสู่สาธารณสุข ๔.๐ ตามยุทธศาสตร์ชาติ และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้โดยสำเร็จ สมบูรณ์ อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ในสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นความร่วมมือในการทำงานวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจนระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ที่มีความเข้มแข็งทั้งคู่ เรามองเห็นปัญหาเดียวกัน และทราบว่าการวิจัยเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์ใช้เองนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจทำให้สำเร็จในวันนี้ ก็จะไม่สามารถเกิดการแข่งขันได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยนี้ก็คือประชาชนชาวไทยจำนวนมากที่ยังต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ในเรื่องของการรักษาพยาบาล ผมมั่นใจว่าการร่วมมือในครั้งนี้ เราจะได้ใช้ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญของเราในเรื่องของวัสดุฉลาด นำมาใช้ประโยชน์ในการออกแบบพัฒนาอุปกรณ์สายสวน
โดยตอนนี้เริ่มจากขดลวดค้ำยันสำหรับลากลิ่มเลือดให้กับผู้ป่วยโรคสมองที่มีจำนวนมากในประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาการออกแบบให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ มีความน่าเชื่อถือ มีราคาถูก ผลักดันให้ภาครัฐฯ สามารถเบิกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปได้ และถ้าทำสำเร็จ ก็จะเห็นสิ่งที่ตามมาอีก เพราะเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถประยุกต์ใช้ได้กับอุปกรณ์รักษาชนิดสายสวนหลายๆประเภท ซึ่งปัจจุบันที่ทำอยู่นั้นก็มีอย่างเช่น อุปกรณ์อุดรอยรั่วหัวใจสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจรั่ว อุปกรณ์เจาะผนังหัวใจสำหรับผู้ป่วยโรคความดันหัวใจ อุปกรณ์ถ่างค้ำยันหลอดอาหารสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งหลอดอาหาร อุปกรณ์รักษาโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ที่กล่าวมานั้น ไม่มีการผลิตในประเทศไทย และมีราคาแพง งานวิจัยครั้งนี้จึงถือว่ามีความสำคัญกับประเทศชาติมาก และสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เราทำงานวิจัยนี้ได้ คือความตั้งใจอย่างเข้มแข็งของทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมวิศวกร ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ท้าทายของประเทศไทยมาก.
ความร่วมมือด้านวิชาการ วิจัยพัฒนา สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย และเศรษฐกิจ ซึ่งจากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยสุขภาพของพสกนิกรในพระองค์ไว้ว่า "ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถ พัฒนาชาติได้ เพราะประชากรเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญในเคลื่อนประเทศไทย" ดังนั้นทางทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดลคาดหวังว่าความร่วมมือระหว่างสองสถาบันจะช่วยสร้างสรรค์ผลงานในเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองและเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทยนำไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพวกเราทุกๆคน