กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
'อัสลามุไลกุม ไปรษณีย์ครับ' คำทักทายที่อาจฟังไม่คุ้นหูคนทั่วไป แต่เป็นที่คุ้นชินสำหรับ 'ชาวปัตตานี' ซึ่งจะรู้ได้ทันทีว่าผู้มาเยือนไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือบุรุษไปรษณีย์ แขกประจำบ้าน ผู้ทำหน้าที่เสมือนทูตสัมพันธไมตรีระหว่างไปรษณีย์ไทยกับประชาชน ทั้งยังเป็นเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของไปรษณีย์ในการทำหน้าที่ส่งจดหมายให้แก่ผู้คนมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ
"ปาริ แวอิซอ" ชายหนุ่มวัย 49 ปี หนึ่งในบุรุษไปรษณีย์ผู้ประจำการอยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี ทุก ๆ วัน ปาริจะทำหน้าที่นำจ่ายพัสดุและจดหมายตามบ้านต่าง ๆ ที่ระบุหน้าซอง บนเส้นทางปฏิบัติงานเป็นเขตพื้นที่อันตรายหรือ 'พื้นที่สีแดง' ที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ก่อการร้ายและเจ้าหน้าที่ ซึ่งหมายถึง ปาริ คือบุรุษไปรษณีย์ที่เสี่ยงชีวิตทุกวันเพื่อนำส่งจดหมายและพัสดุให้ถึงมือผู้รับ
- มอเตอร์ไซค์คู่ใจ ไปไหนไปกัน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะคู่ใจของบุรุษไปรษณีย์ที่ปรากฏกายคู่กันเสมอ เรียกได้ว่าบุกบ่าฝ่าฟันไปด้วยกันทุกที่เลยทีเดียว ย้อนกลับไปเมื่อปี 2538 ขณะที่ปาริเป็นเพียงพนักงานนำจ่ายหน้าใหม่ แต่ต้องทำหน้าที่ส่งจดหมายและพัสดุให้ถึงมือผู้รับ การลงพื้นที่แต่ละครั้งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยวิทยาการสมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีช่วยนำทางใด ๆ เหมือนสมัยนี้ การจะเดินทางไปบ้านเลขที่ตามจ่าหน้าซองจึงต้องอาศัยความจำเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการหลงทางจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ปาริเล่าว่าสมัยทำงาน
แรก ๆ ถึงขั้นฝันถึงบ้านเลขที่เลยทีเดียว แต่ถึงจะอย่างไรมอเตอร์ไซค์คู่ใจนี้ก็ทำหน้าที่พาไปและพากลับจนทำให้ปัจจุบันนี้เพียงแค่เห็นเลขที่บ้านอย่างเดียวก็รู้ได้เลยว่าอยู่ที่ไหนและไปอย่างไร
- 24 ปีกับ 'พื้นที่สีแดง' จังหวัดปัตตานีเป็นหนึ่งใน 'พื้นที่สีแดง' ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่ทุกคนทราบดีว่าการย่างกรายไปที่ใดนั้นคือความเสี่ยง แต่ด้วยอาชีพบุรุษไปรษณีย์ทำให้ปาริไม่สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางแสนอันตรายนี้ได้ บ่อยครั้งที่ชีวิตของเขาคาบเกี่ยวกับสถานการณ์อันน่ากลัวจนเรียกได้ว่า 'เฉียด' ความตายแบบเส้นยาแดงผ่าแปด เช่น เหตุการณ์เมื่อปี 2545 ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ ปาริได้พูดคุยทักทายกับหน่วยทหารลาดตระเวนในพื้นที่ แต่คล้อยหลังไปเพียงครู่เดียว เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวถูกระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส จุดเดียวกับที่เขาได้สนทนาเมื่อซักครู่นี้เพียงไม่กี่นาที เหตุการณ์นั้นเป็นเพียงหนึ่งในร้อยที่เขาได้ประสบมาตลอดระยะเวลา 24 ปีของการเป็นบุรุษไปรษณีย์บนพื้นที่สีแดง แม้หลายครั้งจะทำให้รู้สึกกลัวแต่ก็ไม่อาจทำให้ละทิ้งความรับผิดชอบต่อหน้าที่ไปได้ ด้วยหัวใจหลักของการทำงานคือส่งให้ถึงมือผู้รับ
- เครื่องแบบไปรษณีย์ คือเสื้อเกราะชั้นดีที่สุด
"บุรุษๆ อย่าไปเลย ข้างหน้าเขายิงกันอยู่" เสียงร้องเตือนจากชาวบ้านตะโกนบอกปาริที่กำลังมุ่งหน้าไปส่งจดหมาย การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ก่อการร้ายไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับคนที่นี่ แต่กระนั้นก็ยังต้องเฝ้าระวังกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่ทันตั้งตัว สำหรับนายปาริ ผู้ใช้เวลาค่อนวันหมดไปกับการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ แล้ว สิ่งเดียวที่เป็นเครื่องคุ้มกันเขาจากความเสี่ยง คือ เครื่องแบบไปรษณีย์ และคำทักทาย 'อัสลามุไลกุม ไปรษณีย์ครับ' เพื่อแสดงเจตนาของผู้มาเยือน เครื่องแบบที่แสดงถึงบทบาทของบุรุษไปรษณีย์อย่างชัดเจนจึงกลายเป็นเสื้อเกราะตัวเก่งที่ห่อหุ้มปาริให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างปลอดภัยตลอด 24 ปีที่ผ่านมา
- ไม่เปลี่ยนใจ อย่างไรก็ปัตตานี
การปฏิบัติหน้าที่ในเขตอันตรายเคยเป็นเรื่องน่าขยาดสำหรับปาริ แต่วันนี้มุมมองต่อปัตตานีพื้นที่สีแดงที่เขาคลุกคลีมาเป็นเวลากว่า 20 ปีได้เปลี่ยนไป แม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีความรุนแรงจากการต่อสู้ปะทะกันระหว่างสองฝ่าย ทว่ากลับแฝงไปด้วยความอ่อนโยนและความผูกพันของชาวบ้านที่มีให้แก่กัน เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ปาริตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์แดนใต้นี้ไปจนกว่าจะเกษียณอายุ นอกจากปณิธานในการทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์แล้ว ปาริยังตั้งใจนำเสนอความสวยงามอีกด้านของปัตตานีที่เขาได้สัมผัสในระหว่างเส้นทางนำจ่ายผ่านภาพถ่ายเพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงความสุขทุกครั้งในการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน
ผลตอบแทนสำหรับบุรุษไปรษณีย์เช่น ปาริ ไม่ใช่แค่เงินเดือน หากแต่เป็นรอยยิ้มและน้ำใจเล็กน้อยจากชาวบ้านที่กลายเป็นครอบครัวใหญ่ไปแล้วสำหรับเขา เหล่านี้ล้วนมีมูลค่ากว่าเม็ดเงินที่เขาได้รับในแต่ละเดือนและเป็นกำลังใจสำคัญ ที่ทำให้ปาริยังทำหน้าที่ส่งจดหมายและพัสดุในเส้นทางที่น้อยคนไม่กล้าจะย่างกราย ไม่เพียงแต่ ปาริ แวอิซอ ที่มุ่งมั่นในการให้บริการส่งจดหมายและพัสดุในพื้นที่เสี่ยง แต่ยังมีบุรุษไปรษณีย์อีกหลายสิบท่านในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยึดมั่นในหัวใจให้บริการอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อการให้บริการที่ครอบคลุมทุกพื้นที่