สหกรณ์นิคมชะอำ จำกัด ส่งเสริมสมาชิกรวมกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมมือห้างโมเดินเทรดตามแนวประชารัฐหาตลาดรองรับ

ข่าวทั่วไป Thursday January 3, 2019 13:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผักอินทรีย์ เป็นผักที่ปลอดสารเคมี ในทุกขั้นตอนการผลิตจะมีมาตรฐานกำหนด และต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ เพื่อสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น และเลือกซื้อผักอินทรีย์ไปบริโภคด้วยหวังว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ สหกรณ์นิคมชะอำ จำกัด จังหวัดเพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมให้สมาชิกหันมาปลูกผักอินทรีย์เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลัก หลังจากที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สนับสนุนสหกรณ์ผลิตผักอินทรีย์ป้อนสู่ตลาด จึงมอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชิญชวนสหกรณ์ต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการและเริ่มลงมือปรับปรุงกระบวนการปลูกพืชผักให้ได้ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เมื่อ 4 ปีก่อน โดยทางนิคมสหกรณ์ชะอำ ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนภูมิภาคของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ดูแลพื้นที่นิคมสหกรณ์ในเขตอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีสหกรณ์นิคมชะอำ จำกัดตั้งอยู่ในพื้นที่และอยู่ในการส่งเสริมดูแลได้เห็นถึงโอกาสของโครงการนี้ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกจึงให้ความร่วมมือสนับสนุนสมาชิกหันมาปลูกผักอินทรีย์ ระยะแรกของโครงการทางนิคมสหกรณ์ชะอำได้ทำแปลงผักอินทรีย์ทดลอง เป็นแปลงตัวอย่างให้สมาชิกมาเรียนรู้และทดลองปลูก และได้ส่งเสริมสมาชิกทำปุ๋ยหมักใช้เอง โดยทางนิคมสหกรณ์ฯได้ทดลองหมักปุ๋ยและแจกจ่ายให้สมาชิกไปใช้ในแปลงผักอินทรีย์ในช่วงเริ่มต้นลงมือปลูกผักอินทรีย์และส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลถึงรายแปลง เนื่องจากในช่วงของการปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชแบบที่เคยใช้สารเคมีมาปลูกแบบอินทรีย์ค่อนข้างต้องใช้ความพิถีพิถันและใส่ใจในทุกขั้นตอน ซึ่งทุกคนต้องอาศัยความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ได้ และต้องอาศัยระยะเวลากว่าจะเห็นผลและได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และองค์กรเอกชนต่างๆ ที่เข้ามาช่วยส่งเสริม จนทำให้สมาชิกจำนวน 40 ราย เกิดความมั่นใจที่จะยึดอาชีพนี้และรวมกลุ่มกันในนามกลุ่มผู้ปลูกผักอินทรีย์ภายใต้สังกัดสหกรณ์นิคมชะอำ จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิก 23 ราย ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมจาก กรมส่งเสริมการเกษตร คือ ระบบPGS และเข้ารับหนังสือรับรองจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา นางอุษา พุ่มพวง ผู้จัดการสหกรณ์นิคมชะอำ จำกัด เปิดเผยว่า การปลูกผักอินทรีย์เป็นพืชที่สร้างรายได้เร็วให้กับเกษตรกร ผักบางชนิดปลูก 20 วันก็เก็บขาย และสามารถบริหารจัดการผักได้ตรงตามความต้องการตลาดได้เนื่องจากในพื้นที่ 1 แปลง สามารถปลูกผักได้เกิน 20 ชนิด ซึ่งผักที่สมาชิกปลูกส่วนใหญ่เป็นผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง แตงกวา ผักสลัดกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค แต่ละวันสมาชิกจะรวบรวมผักมาส่งที่สหกรณ์ จากนั้นสหกรณ์จะนำเข้าห้องตรวจสอบคุณภาพ มีการตรวจสอบหาสารฆ่าแมลงว่าและสารเคมีต่าง ๆ จนมั่นใจว่ามีความปลอดภัย 100% จึงคัดเกรดและบรรจุลงถุงที่มีการติดบาร์โค้ตไว้ทุกถุง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแสกนและตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของผักแต่ละถุงว่ามาจากแปลงของเกษตรกรรายใด ซึ่งทางสหกรณ์ได้เน้นย้ำกับสมาชิกทุกรายในการควบคุมการผลิตและคุณภาพของผักที่จะนำมาส่งขายให้สหกรณ์ ต้องมีความปลอดภัย มีคุณภาพและปริมาณที่สม่ำเสมอ ตลาดหลักที่สหกรณ์จะนำผักอินทรีย์ไปจำหน่าย อยู่ในพื้นที่ภายในจังหวัดเพชรบุรี เช่น โรงพยาบาลชะอำ ซึ่งจะจำหน่ายทุกวันจันทร์ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า ตลาดเกษตรกรข้างจวนผู้ว่าฯ จำหน่ายทุกเช้าวันอังคาร และมีช่องทางตลาดใหม่คือส่งขายให้กับห้างแมคโคร ซึ่งได้ประสานขอความร่วมมือมายังอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อสั่งซื้อ ผักอินทรีย์ไปขายในห้างแมคโครสาขาชะอำและหัวหิน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ซึ่งสหกรณ์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจตลาดพบว่าผักของสหกรณ์จะวางอยู่บนชั้นจำหน่ายของสดในห้างแมคโครและสามารถขายหมดภายในเวลาไม่เกิน 2 วัน ซึ่งห้างแมคโครได้ขอให้สหกรณ์เพิ่มปริมาณการส่งผักทุกวัน ทำให้สหกรณ์ต้องกลับมาวางแผนเพื่อส่งเสริมสมาชิกขยายพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ เพื่อส่งให้ทางห้างและยังมีตลาดที่ต้องการสั่งซื้ออีกจำนวนมาก ด้านนางสุภาวดี ทับทิม สมาชิกสหกรณ์นิคมชะอำ จำกัด เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่หันมายึดอาชีพปลูกผักอินทรีย์อย่างจริงจังจนกลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว เล่าถึงที่มาของการปลูกผักอินทรีย์ว่า แต่เดิมทำงานเป็นลูกจ้างอยู่อบต. ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวแบบพร้อมหน้า จึงหันมาลองทำเกษตรตามแนวทางทฤษฏีใหม่ จัดสรรที่ดิน 7 ไร่ ตามสัดส่วน 30-30-30-10 ขุดเป็นบ่อน้ำและเลี้ยงปลา ทำนา 1 ไร่กับ 3 งาน เพื่อมีข้าวไว้บริโภคและยังมีที่ดินอีกส่วนหนึ่งเลี้ยงวัว ที่เหลือได้จึงได้ทำเป็นแปลงผักอินทรีย์ ซึ่งช่วง 4 เดือนแรก ลงมือปลูกผักบุ้งเนื่องจากเห็นว่าปลูกง่ายที่สุดแต่กลับเก็บผลผลิตขายไม่ได้ เนื่องจากดินเค็มและแข็ง ไม่เหมาะกับการปลูกผัก จึงเข้าอบรมกับทางนิคมสหกรณ์ชะอำ ทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักไว้ใช้ในแปลงเกษตร นำใบไม้ใบหญ้าในไร่มาหมักกับขี้วัว กลายเป็นปุ๋ยหมัก แล้วนำไปใส่ในแปลงผัก ตารางเมตรละ 1 คันรถเข็น จนดินเริ่มดีขึ้น มีชีวิต มีไส้เดือน สภาพดินเปลี่ยนแปลงมีความร่วน มีแร่ธาตุและสามารปลูกผักได้ผลผลิตงอกงาม หลังจากได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ จนเห็นลู่ทางในการสร้างรายได้ และมั่นใจว่าปลูกผักอินทรีย์แล้วจะมีตลาดรองรับและรายได้ที่แน่นอน ทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังจนวันนี้คุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวดีขึ้น เก็บผักส่งขายให้สหกรณ์ทุกวันและยังเก็บไว้ทำอาหารแต่ละมื้อไม่ต้องเสียเงินไปซื้อที่ตลาด ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่มีสารพิษ ส่วนการวางแผนการผลิต จะทำแฟ้มประวัติผักทุกแปลง และเริ่มทดลองขายผักผ่านออนไลน์ โดยได้อบรม Young Smart Farmer มีวิทยากรสอนเกี่ยวกับการทำเว็บเพจ จึงทดลองทำเพจขายผักทางเฟสบุ๊ค ได้ผลตอบรับที่ดีมาก เมื่อผักมีอายุพอที่จะเก็บขายก็จะนำมาโพสต์นำเสนอลูกค้าทางเฟสบุ๊ค หมุนเวียนขายเป็นรอบ แต่ละวันจะใช้เวลาอยู่ในแปลงผัก ดูแลผลผลิต ให้น้ำ ใส่ปุ๋ย เก็บผักส่งสหกรณ์ ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นและสมาชิกในครอบครัวมีความสุขร่วมกัน นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินโครงการผักอินทรีย์ของสหกรณ์นิคมชะอำ จำกัด พร้อมกล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์เลือกพื้นที่นิคมสหกรณ์ในการส่งเสริมชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกผักอินทรีย์ เนื่องจากพื้นที่ของนิคมสหกรณ์เป็นพื้นที่ที่กรมฯได้จัดสรรที่ดินทำกินให้สมาชิก และอาศัยอยู่ใน จุดเดียวกัน ทำให้ดูแลได้ง่ายและทั่วถึง จึงได้ผลักดันให้สมาชิกในพื้นที่นิคมสหกรณ์หันมาปลูกผักอินทรีย์ ซึ่งเป็นพืช ที่ใช้ระยะเวลาสั้นก็เก็บเกี่ยวผลผลิตและช่วยสร้างรายได้ให้ครอบครัว และผลตอบรับในปัจจุบันค่อนข้างดี ผักอินทรีย์ขายได้ราคาสูงกว่าผักทั่วไปประมาณ 8 – 10 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์คาดหวังว่าสหกรณ์จะเป็นแหล่งผลิตผักที่มีคุณภาพเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคและปลอดภัยต่อสุขภาพ ระยะต่อจากนี้ไปจะสนับสนุนการรวมกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ให้ผลิตผักอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เป็นห้างโมเดินเทรดได้ยื่นมือเข้ามาเป็นตลาดให้สหกรณ์ รับซื้อผักไปจำหน่ายในห้างและได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันสหกรณ์เองต้องใช้เวลาในการพิสูจน์เรื่องคุณภาพ และทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ QR Code เมื่อสแกนดูแล้วสามารถรู้ได้ว่า ผักถุงนี้ใครปลูกและตัดออกจากแปลงเมื่อไหร่ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทุกคนต้องช่วยกันและร่วมมือกัน เพื่อผลิตผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพและรักษามาตรฐานให้สม่ำเสมอ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะขยายผลโครงการส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ให้กับสหกรณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้อาชีพปลูกผักอินทรีย์มีความมั่นคงและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป
แท็ก ชะอำ   เคมี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ