กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ประสาน 16 จังหวัดเสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อน "ปาบึก" กำชับให้วิเคราะห์และประเมินคาดการณ์ความเสี่ยงภัยในพื้นที่ วางแนวทางการลดผลกระทบและเตรียมแผนปฏิบัติการกรณีเกิดสถานการณ์วิกฤตไว้ล่วงหน้า เตรียมรับมือผลกระทบทั้งฝนตกหนัก พายุลมแรง คลื่นซัดฝั่ง น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบข้อมูลข่าวสาร แนวโน้มสถานการณ์ภัย คำแนะนำการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และช่องทางรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ห่วงใยผลกระทบสถานการณ์พายุโซนร้อน "ปาบึก" ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการเตรียมพร้อมรับมือและเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า และน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งจะได้ติดตามข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์พายุ สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่า และปริมาณน้ำฝนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประสานการปฏิบัติกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดทั้ง 16 จังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ กอปภ.ก. ได้กำชับให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยวิเคราะห์และประเมินคาดการณ์ความเสี่ยงภัยในพื้นที่ ทั้งการเคลื่อนตัวของพายุ การวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พร้อมวางแนวทางการลดผลกระทบและเตรียมแผนปฏิบัติการกรณีเกิดสถานการณ์วิกฤตไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถประสานการแจ้งเตือนภัย ปฏิบัติการเผชิญเหตุ และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยได้เน้นย้ำให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นจากอิทธิพลพายุโซนร้อนปาบึก ทั้งภาวะฝนตกหนักพายุลมแรง คลื่นซัดฝั่ง น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม รวมถึงเตรียมระบบสื่อสาร ทั้งระบบสื่อสารหลัก/ระบบสื่อสารรอง ให้สามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา เพื่อให้การประสานการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งให้ประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเตรียมความพร้อม ทั้งระบบการจ่ายไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าสำรอง รวมถึงแผนการแก้ไขปัญหากรณีระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหายและการซ่อมแซมฟื้นฟูระบบที่อาจได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ปภ. ได้ระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้งจากในและนอกพื้นที่ภาคใต้ อาทิ เครื่องสูบน้ำท่วมขัง รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถผลิตน้ำดื่ม รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถยนต์กู้ภัย รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เรือท้องแบน กระจายกำลังเตรียมพร้อมสนับสนุนการเผชิญเหตุในพื้นที่ 16 จังหวัดเสี่ยงภัย ขณะนี้ ได้เข้าประจำในพื้นที่รับมอบภารกิจ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการแล้ว ที่สำคัญ ปภ.ได้กำชับให้หน่วยงานแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบข้อมูลข่าวสาร แนวโน้มสถานการณ์ภัย คำแนะนำการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และช่องทางรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จะได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ หากมีประกาศแจ้งเตือนอพยพ ขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป