กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจับมือ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้ายกระดับย่านนวัตกรรมโยธีสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจรภายใน 10 ปี ชี้ความร่วมมือดังกล่าวจะร่วมกันพัฒนาแนวทางและกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้าน นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานภายใต้พื้นที่ย่านโยธี เขตราชเทวี ซึ่งมีการกระจุกตัวของสถานพยาบาล สถาบันการศึกษาทางการแพทย์ และจำนวนทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญต่อจำนวนประชากรสูงสุดในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามในการพัฒนาย่านนวัตกรรมโยธีนั้นยังได้ตั้งเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ 1.พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับนวัตกรรม 2.พัฒนาสินทรัพย์ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และเครือข่ายให้เหมาะสมสำหรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ 3.พัฒนาศักยภาพการวิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน และ 4.ปลดล็อกข้อจำกัด และผลักดันโครงการด้านการแพทย์และสุขภาพของหน่วยงานภายในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสในการพัฒนาและยกระดับย่านโยธีให้กลายเป็นย่านนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจร โดยมีเป้าหมายใน 4 ส่วน คือ 1.พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับนวัตกรรม โดยใช้ทรัพยากรพื้นที่เนื้อเมืองและความหนาแน่นด้านนวัตกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญ 2.พัฒนาสินทรัพย์ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และเครือข่ายให้เหมาะสมสำหรับการเป็นศูนย์กลางย่านนวัตกรรมทางการแพทย์และการวิจัย 3.พัฒนาศักยภาพการวิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายที่ยั่งยืนในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ และ 4.ปลดล็อกข้อจำกัด และผลักดันโครงการด้านการแพทย์และสุขภาพของหน่วยงานภายในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจ
สำหรับการวางพื้นฐานในการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมทางการแพทย์นั้นจะต้องประกอบไปด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือพื้นที่เพื่อรองรับการวิจัย พัฒนา และทดลองนวัตกรรมทางการแพทย์ ตามมาด้วยการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาย่านจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน การส่งเสริมการสร้างและใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในย่านและโดยรอบ รวมทั้งนำไปสู่อุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังจะต้องมีการวางมาตรการและนโยบายสนับสนุนการลงทุนด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมทางด้านการแพทย์ รวมถึงฐานข้อมูลเพื่อการบริการทางการแพทย์เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
ดร.สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมสุขภาพโยธี โดยมี นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อร่วมพัฒนาแนวทางและกิจกรรมในการพัฒนาย่านฯ ทั้งในด้าน นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้ดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีให้เป็นศูนย์กลางและการรักษาและการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพต้นแบบขึ้น ภายใต้พื้นที่ย่านโยธี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตย่านที่มี สถานพยาบาล สถาบันการศึกษาทางการแพทย์ ที่มีการกระจุกตัวของโรงพยาบาล และสถาบันทางการแพทย์ จำนวนทรัพยากรบุคคล บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ สถานพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และโครงสร้างพื้นฐาน ต่อจำนวนประชากรสูงสุดในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ มั่นใจว่า ภายใน 10 ปี พื้นที่ดังกล่าวจะสามารถก้าวสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างครบวงจร
ด้าน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าประเทศไทยถือเป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับการยอมรับจากระดับนานาชาติในเรื่องความรู้ความสามารถในการให้บริการทางด้านสุขภาพ ดังนั้นการวางรากฐานและสร้างต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติ Thailand 4.0 ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โยธีจึงถูกเลือกเป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์ด้วยปัจจัยดังนี้
- ด้วยศักยภาพของพื้นที่โดยรอบตั้งแต่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตลอดจนถึงบริเวณถนนพระราม 6 นั้นหนาแน่นไปด้วยจำนวนโรงพยาบาลมากกว่า 10 แห่ง ทำให้พื้นที่สามารถตอบสนองต่อการให้บริการทางการแพทย์และสามารถรองรับปริมาณคนไข้ที่เข้ามายังพื้นที่ได้จำนวนมาก เป็นโอกาสสร้างพื้นที่นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ยังมีศักยภาพในการยกระดับเป็นศูนย์รวมของการสร้างนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การขยายผลในระดับประเทศ และนานาชาติ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Hospital 4.0) และการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) เป็นต้น
ด้วยเหตุที่กิจกรรมทางการแพทย์ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ย่านนวัตกรรมโยธี จึงเหมาะแก่การเป็น Medtech and Healthtech Sandbox โดยใช้ทรัพยากรและความสามารถทางการแพทย์ที่มีอยู่ในพื้นที่เป็น Test Bed ที่จะยกระดับการแพทย์ไทยไปสู่ระดับสากล เช่น การใช้โรงพยาบาล ในย่านเป็นพื้นที่การทดสอบต้นแบบ (Prototyping) และการทดสอบทางคลินิก (Clinical trial) และการขยายผลไปสู่โรงพยาบาลในพื้นที่อื่น ๆ
ขณะที่ ศ. คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ต้องอาศัยการพัฒนาทรัพยากรที่เป็นแพทย์ พยาบาล หรือแม้แต่การพัฒนาการวิจัยทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศษฐกิจเกิดการลงทุนการบริการทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของการบริการทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น บทบาทของการศึกษาและวิจัยจะช่วยยกระดับการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีประกอบไปด้วย
1. มหาวิทยาลัยวิจัยในพื้นที่มีคณะที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์เป็นจำนวนมาก เช่น คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี คณะทันตแพทย์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุข คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยพยาบาล ทำให้มีความเหมาะสมในการเป็น Medtech innovator reservoir ในการสร้างบุคคลากรด้านการแพทย์มุ่งสู่การเป็น world class ทางการแพทย์และตอบโจทย์การเป็นhospital 4.0
2. นอกจากนั้น สถาบันวิจัยและสถาบันเฉพาะทางการแพทย์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ คือ Innovation Lab ด้านการแพทย์ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่า 1.7ล้าน ตรม. เพื่อให้เกิดกิจกรรมด้านวิจัยและนวัตกรรม (Research to Innovation, R2I) โดยมีหลายคณะเข้ามามีส่วนร่วม
3. ศักยภาพการเรียนการสอนและวิจัยการแพทย์ข้างต้นจะเป็นตัวเร่งการยกระดับศักยภาพบทบาทของงานวิจัยในมหาวิทยาลัยทั้งในย่าน และพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อสร้าง research excellence ระดับโลก และต่อยอดพัฒนา Research capability เพื่อสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์การแพทย์ในระดับสากล
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวปิดท้ายว่า การพัฒนาย่านนวัตกรรมของประเทศไทยจะมีบทบาทในการพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศได้ดังนี้
- การดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้รวมกันเป็นคลัสเตอร์ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ดำเนินกิจกรรมภายในย่าน
- เกิดการสร้างงานรูปแบบใหม่ จากการสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้เป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตในยุคสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างการเชื่อมต่อ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ และกลุ่มผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้ามาร่วมกันวางแผนยกระดับนวัตกรรมในพื้นที่ ซึ่งท้ายที่สุดจะเกิดเป็นการแบ่งปันความรู้
- การสร้างให้ย่านมีแรงกระตุ้นเทียบเท่าพื้นที่อีอีซี เพื่อเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ นักลงทุน นักพัฒนาที่ดินด้านสุขภาพ และ การผลิตแบบห่วงโซ่มูลค่าด้านการแพทย์ในระดับโลก
- การนำเสนอนวัตกรรมภาครัฐ (Public sector innovation) ที่ประชาชนสัมผัสและจับต้องได้ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่าง วิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สตาร์ทอัพ และโรงพยาบาลในพื้นที่
- การทำนวัตกรรมเชิงพื้นที่ในเนื้อเมืองชั้นในเพื่อทำให้เกิด เมืองนวัตกรรมทั้งในพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่โรงพยาบาล รวมถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ ด้วยนวัตกรรม เช่น Tele Medicine, Health service และนวัตกรรมทั่วถึงสำหรับคนชราและคนพิการ
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ http://www.nia.or.th ,facebook.com/NIAThailand