ตลาดรถยนต์ปี 2550 ยอดขายรวม 631,251 คัน ลดลง 7.5% โตโยต้า คาดตลาดรถยนต์ปี 2551 เติบโต 11 % ยอดขายรวมขาย 700,000 คัน

ข่าวยานยนต์ Thursday January 17, 2008 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--โตโยต้า มอเตอร์
มร.มิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ประจำปี 2550 มีปริมาณการขาย 631,251 คัน ลดลง 7.5% เชื่อมั่นภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2551 มีแนวโน้มดีขึ้น พร้อมปัจจัยบวกหนุน คาดตลาดรถยนต์ปี 2551 มียอดขาย 700,000 คัน และอัตราการเจริญเติบโต 11% พร้อมตั้งเป้าหมายการขายรถยนต์โตโยต้าทุกรุ่น 310,000 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 44%
ตลาดรถยนต์ในปี 2550 นั้น มีปริมาณขายรวมทั้งสิ้น 631,251 คัน ลดลง 7.5% โดยตลาดรถยนต์นั่ง 170,117 คัน ลดลง 11.3% ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ มียอดขาย 461,133 คัน ลดลง 6.0% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซ็กเม้นท์นี้ มียอดขาย จำนวน 405,865 คัน ลดลง 9.8%
มร.โซโนดะ กล่าวว่า “ตลาดรถยนต์ปี 2550 แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลายากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ปริมาณการขาย เมื่อเปรียบเทียบในแต่ละไตรมาสนั้น จะเห็นว่ามีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยในไตรมาสแรกของปีนั้น มีปริมาณการขายที่ตกลงไปอยู่ที่ 81.3% แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ซึ่งมีปริมาณการขายกลับมาอยู่ที่ 93.6% และได้ส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้อัตราการหดตัวของตลาดลดน้อยลง และในไตรมาสที่ 3 ก็มีอัตราการเติบโตเป็นครั้งแรก รวมถึงอัตราการเติบโตในไตรมาส4 ที่ยกเว้นเดือนธันวาคมที่มียอดขายลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบในด้านการปรับตัวของตลาดจากการประกาศใช้อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงาน อี20 แนวโน้มที่ดีขึ้นของตลาดรถยนต์เป็นข้อยืนยันการ
ฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจาก ในช่วงครึ่งปีหลังมีปัจจัยบวกซึ่งผลดีต่อตลาด อาทิ ความคลี่คลายของสถานการณ์ทางการเมืองที่คลุมเครือมาตั้งแต่ต้นปี มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติ นิวไฮ จะเป็นปัจจัยลบก็ตาม”
สถิติการขายรถยนต์ ในปี 2550
ปริมาณการขายรวม 631,251 คัน ลดลง 7.5%
รถยนต์นั่ง 170,117 คัน ลดลง 11.3%
รถเพื่อการพาณิชย์ 461,133 คัน ลดลง 6.0%
รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 405,865 คัน ลดลง 9.8%
รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 382,636คัน ลดลง 9.6%
“ในปีนี้ นับเป็นปีแห่งความสำเร็จอีกปีหนึ่งของโตโยต้า โดยสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 44.7% ด้วยยอดขายรถยนต์รวม 282,088 คัน ซึ่งหดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและสามารถ ครองอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์รวม ตลาดรถยนต์นั่ง ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเซ็กเม้นท์รถกระบะ ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง โตโยต้ามียอดขายเป็นอันดับ 1 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยไฮลักซ์ วีโก้ มียอดขาย 158,348 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 41.4%”
มร.โซโนดะ กล่าวต่อไปว่า “ความสำเร็จของโตโยต้า เกิดจากความทุ่มเทที่เน้นไปยังลูกค้าของเราอย่างดีที่สุดทั้งคุณภาพผลิตภัณฑ์และการบริการจากตัวแทนจำหน่าย ผมขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจจากการทำงานอย่างแข็งขันของเครือข่ายโตโยต้าทั้งผู้แทนจำหน่าย และผู้ผลิตชิ้นส่วนตลอดจนความสนับสนุนจากสื่อมวลชน และสิ่งที่สำคัญคือความสนับสนุนจากลูกค้าของเรา”
สถิติการขายรถยนต์ของโตโยต้า ในปี 2550
ปริมาณการขายโตโยต้า 282,088 คัน ลดลง 2.4% ส่วนแบ่งตลาด 44.7%
รถยนต์นั่ง 92,530 คัน เติบโตคงที่ ส่วนแบ่งตลาด 54.4%
รถเพื่อการพาณิชย์ 189,558 คัน ลดลง 3.6% ส่วนแบ่งตลาด 41.1%
รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 173,184 คัน ลดลง 6.7% ส่วนแบ่งตลาด 42.7%
รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 158,348 คัน ลดลง 4.8% ส่วนแบ่งตลาด 41.4%
“ทางด้านการส่งออกของปีที่ผ่านมา โตโยต้าสามารถครองอันดับหนึ่งในตลาดส่งออก โดยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จำนวนทั้งสิ้น 237,774 คัน มูลค่าการส่งออก 99,562 ล้านบาท เติบโต 20.7% ส่วนแบ่งตลาด 34.5% นอกจากนี้ เราได้ส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่จำนวนทั้งสิ้น 28,216 คอนเทนเนอร์ มูลค่าการส่งออก 39,176ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 141,025 ล้านบาท แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทก็ตาม” มร.โซโนดะกล่าว
สำหรับแนวโน้มของตลาดรถยนต์ของปี 2551 มร.โซโนดะ กล่าวว่า “ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมือง และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองได้ ประกอบกับปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อตลาดอาทิ นโยบายส่งเสริมรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมากกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล อาจส่งผลกระทบ ดังนั้นเราคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ในปี 2551 จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 11% ปริมาณการขาย 700,000 คัน โดยแบ่งออกเป็นตลาดรถยนต์นั่ง 217,000 คัน และตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 483,000 คัน”
ประมาณการยอดขายรถยนต์ ในปี 2551
ปริมาณการขายรวม 700,000 คัน เติบโต 11%
รถยนต์นั่ง 217,000 คัน เติบโต 28%
รถเพื่อการพาณิชย์ 483,000 คัน เติบโต 5%
สำหรับเป้าหมายการขายของโตโยต้า ในปี 2551 มร.โซโนดะ กล่าวว่า “โตโยต้า ได้ตั้งเป้าหมายการขายไว้ที่ 310,000 คัน อัตราการเจริญเติบโต 9.9% เมื่อเทียบกับปี 2550 และคาดว่าจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 44%”
ประมาณการขายรถยนต์ของโตโยต้า ในปี 2551
รถยนต์นั่ง 111,000 คัน ส่วนแบ่งตลาด 51.2 %
รถเพื่อการพาณิชย์ 199,000 คัน ส่วนแบ่งตลาด 41.2 %
แนวโน้มการส่งอออกของอุตสาหกรรม
“สำหรับความต้องการของตลาดส่งออก ในปี 2551 นั้น โตโยต้ามีเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 298,881คัน คิดเป็นมูลค่า 126,577 ล้านบาท และชิ้นส่วนอะไหล่มูลค่า 45,894 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 172,471 ล้านบาท แม้ว่าปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ตาม แต่ความต้องการรถยนต์ในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นและเราจะเปิดตลาดใหม่ๆสำหรับการส่งออกรถยนต์เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ในปี 2551 โตโยต้ามีเป้าหมายและความท้าทายที่จะบรรลุถึงการเป็นฐานการผลิตแห่งหนึ่งของโลกที่เป็นผู้นำในด้านความปลอดภัย คุณภาพการผลิตและความสามารถในการบริหารต้นทุน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นำไปสู่การสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าของเรา และสนับสนุนการดำเนินงานด้านกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องในหลายๆด้าน เพื่อประโยชน์ต่อสังคมไทย การส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิโครงการลดโลกร้อน การปลูกป่าทดแทนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย เป็นผู้สนับสนุนหลักในการพัฒนา การดำเนินงานและการบริหารจัดการอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรให้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบ เฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 80 พรรษา และความมุ่งมั่นในการที่จะผลิตรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อม โตโยต้า ขอขอบคุณคนไทยทุกคน ที่ให้ความไว้วางใจในคุณภาพของรถยนต์โตโยต้า จนทำให้มียอดขายเป็น อันดับ 1 ในตลาดรถยนต์ทุกประเภท” มร.โซโนดะ กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ