กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมในการเตรียมการเผชิญเหตุพายุโซนร้อนปาบึกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้ ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการนี้ องคมนตรี 4 ท่าน ได้แก่ นายพลากร สุวรรณรัฐ พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และพลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ ได้ร่วมติดตามแนวโน้มสถานการณ์และแนวทางการเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน รวมถึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และขอให้ทุกภาคส่วนน้อมนำพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัย ให้ดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกลับมาเป็นปกติสุขโดยเร็ว วางแผนเผชิญเหตุให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อมิให้การปฏิบัติมีความซ้ำซ้อน พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับแต่ละสภาพพื้นที่ อีกทั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมสนับสนุนสิ่งของพระราชทานแก่ผู้ประสบภัย ศูนย์อำนวยการใหญ่ (ศอญ.) โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" พร้อมจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในพื้นที่ประสบภัย และมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากพร้อมสนับสนุนถุงยังชีพพระราชทานและจัดตั้งโรงครัว
พลเอก อนุพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามแนวโน้มการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนปาบึกกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อนปาบึกได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และคาดว่าจะอ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันเข้าปกคลุมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ บกปภ.ช. ได้บูรณาการการเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหากับหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ ผ่านกลไกระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทั้งการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำกักเก็บค่อนข้างมาก การเชื่อมโยงการระบายน้ำ การพร่องน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และคลื่นซัดฝั่ง ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระดมเจ้าหน้าที่ ทรัพยากร และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งเตรียมการแก้ไขเส้นทางคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคมิให้ถูกตัดขาด ดูแลด้านการดำรงชีพและความปลอดภัยของผู้ประสบภัย ตลอดจนมุ่งเน้นการให้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะแนวทางการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ วิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย ช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ และเครือข่าย ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขสถานการณ์ภัยและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินให้เหลือน้อยที่สุด