สคร. เปิดเผยรายได้นำส่งรัฐวิสาหกิจไตรมาสแรกประจำปีงบประมาณ 2551

ข่าวทั่วไป Thursday January 17, 2008 12:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
สคร. เปิดเผยรายได้นำส่งรัฐวิสาหกิจไตรมาสแรกประจำปีงบประมาณ 2551 นำส่ง 2.9 หมื่นล้านบาท สูงกว่า 12% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ มั่นใจหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ (Directors’ Pool) ตามที่ ครม. อนุมัติจะได้กรรมการรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใส ปลอดการแทรกแซงทางการเมือง
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า รายได้นำส่งของรัฐวิสาหกิจประจำไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม — ธันวาคม 2550) รัฐวิสาหกิจสามารถนำส่งรายได้ให้กระทรวงการคลังจำนวนทั้งสิ้น 29,734.35 ล้านบาท แม้จะต่ำกว่าประมาณการจำนวน 2,709.47 ล้านบาท แต่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา 12% หรือจำนวน 2,910.39 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจหลักที่นำส่งรายได้ประจำเดือนธันวาคม 2550 ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 1,262.65 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 733 ล้านบาท และองค์การสวนยาง 20 ล้านบาท
ด้านการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 17 แห่ง ประจำปี 2550 สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2550 สามารถเบิกจ่ายได้จริง 203,251.40 ล้านบาท คิดเป็น 62.95% ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติในปี 2550จำนวน 322,855.15 ล้านบาท
รัฐวิสาหกิจที่มีการเบิกจ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถเบิกจ่ายได้จริง 14,735.36 ล้านบาท คิดเป็น 91.93 % ของจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติ 16,028.81 ล้านบาท 2. การประปานครหลวง สามารถเบิกจ่ายได้ 5,091.70 ล้านบาท คิดเป็น 89.09% ของจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 5,715.50 ล้านบาท และ 3. การประปาส่วนภูมิภาค สามารถเบิกจ่ายได้ 4,612.27 ล้านบาท คิดเป็น 87.74% ของจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 5,257 ล้านบาท
ด้านรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าแผนจำนวนมาก คือ โรงงานยาสูบ เบิกจ่ายได้เพียง 140.38 ล้านบาท คิดเป็น 2.83% ของจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 4,953.92 ล้านบาท เนื่องจากนโยบายเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ และการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถเบิกจ่ายได้ 496.22 ล้านบาท คิดเป็น 3.19% ของจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 15,553.35 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครใหม่ แต่โครงการดังกล่าวจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2551 นี้
นายอารีพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภู่ชอุ่ม ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ จากนี้ไปการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (บอร์ด)จะต้องคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจในจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่นในรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น
ทั้งนี้ การจัดทำบัญชีรายชื่อดังกล่าว จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจคณะหนึ่ง จำนวน 13 ท่าน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ และปลัดกระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจอยู่ใต้สังกัดไม่เกิน 4 คน และอีกไม่เกิน 6 คน จะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ผอ.สคร.) เป็นกรรมการและเลขานุการ และเจ้าหน้าที่ สคร. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
กระบวนการเพื่อให้ได้มาของรายชื่อกรรมการ จะมาจากการประกาศรับสมัครทั่วไป การเชิญชวน และบุคคลที่คณะกรรมการเห็นชอบ ซึ่งคุณสมบัติของผู้เสนอชื่อเป็นกรรมการจะต้องระบุถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โอกาสที่ตนเองจะมีความขัดแย้งในรัฐวิสาหกิจ และความเกี่ยวเนื่องของธุรกิจของคู่สมรสและทายาท การมีคุณธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามของกรรมการตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นอกจากนี้ เมื่อกรรมการที่ผ่านการพิจารณาแล้วจะต้องเข้าฝึกอบรมหรือร่วมกิจกรรมพัฒนากรรมการ เพื่อให้เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ดี โดยจะมีการพิจารณาทบทวนบัญชีรายชื่อและปรับปรุงทุกปี เพื่อให้มีความเหมาะสมและทันกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
“การจัดทำบัญชีรายชื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ นับว่าเป็นมิติใหม่ของกระบวนการคัดสรรกรรมการของรัฐวิสาหกิจ โดยจะได้บัญชีรายชื่อกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สอดคล้องตามลักษณะของธุรกิจและการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจนั้น รวมถึงการได้บุคคลที่มีคุณธรรมและจริยธรรม อันจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของวิชาชีพกรรมการ” นายอารีพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ