กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลกระทบของปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จึงมีแนวคิดนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาพัฒนาโดยการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
เครื่องชุบถุงมือผ้าเคลือบยางแบบกึ่งอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพาราซึ่ง วว. วิจัยและพัฒนาสำเร็จ การทำงานใช้กลไกระบบ Geneva Cross ที่มีการเคลื่อนที่เป็นวงกลมเป็นจังหวะ โดยจังหวะหยุดการเคลื่อนที่ เป็นจังหวะที่ใช้ในการจุ่มสารเคลือบและขั้นตอนการจุ่มน้ำยาง ซึ่งใช้ระยะเวลา 15-20 วินาทีต่อคู่ ระบบควบคุมด้วย (PLC Programmable Logic Control) ที่สามารถเขียนโปรแกรมจากคอมพิวเตอร์
คุณลักษณะของเครื่อง
1.กำลังการผลิต 300 คู่ต่อวัน (วันละ 8 ชั่วโมง)
2.มีขั้นตอนการจุ่มเคลือบและขั้นตอนการจุ่มน้ำยาง ซึ่งใช้ระยะเวลา 15-20 วินาทีต่อคู่
3.มีขั้นตอนการนำโมลที่ใส่ถุงมือผ้า เข้า-ออก โดยใช้แรงงานจากบุคคล
4.ความดันลม 4-6 บาร์
5.ระบบไฟฟ้า 220 โวลต์ 5 แอมป์
6.ขนาดเครื่อง 2.2x1.5x1.5 เมตร
7.น้ำหนัก 450 กิโลกรัม
ประโยชน์ที่ได้รับจากเครื่องชุบถุงมือผ้าเคลือบยางแบบกึ่งอัตโนมัติ
1.สร้างมูลค่าเพิ่มน้ำยางพาราด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
2.ช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
3.ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ถุงมือผ้าเคลือบยางและส่งออกเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ
4.ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตให้เร็วขึ้น
สอบถามรายละเอียดผลงานวิจัย วว. ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ โทร. 0 2577 9000 , 0 2577 9425 E-mail : tistr@tistr.or.th