กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--กสท โทรคมนาคม
CAT นำโครงข่าย LoRaWAN และระบบ CLOUD Computing ร่วมสนับสนุน TESA จัดแข่งขัน TESA Top Gun Rally 2019 หนุนสร้างนักพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวเพื่ออนุรักษ์โบราณสถานแห่งชาติ
ดร.ณัฎฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า CAT ได้ร่วมสนับสนุนการจัดประชันทักษะสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 13 (TESA Top Gun Rally 2019) ที่สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) จัดขึ้นร่วมกับกรมศิลปากรมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และหน่วยงานต่าง ๆ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
การแข่งขัน TESA Top Gun Rally 2019 ในครั้งนี้กำหนดจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ 'ระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0' (Smart National Historic Site 4.0 : Art & Cultural Conservation & Tourism Information System) ระหว่างวันที่ 6 - 12 มกราคม 2562 ในบริเวณพื้นที่พระราชวังสนามจันทร์และใกล้เคียงในจังหวัดนครปฐม เพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการผสานความรู้ด้านสมองกลฝังตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับช่วยอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้มีนิสิต นักศึกษา นักเรียน และคณาจารย์ในวงการ Embeded System and IoT ของประเทศไทยกว่า 300 คนจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 30 แห่งเข้ามารวมตัวกันสร้างสรรค์และพัฒนาระบบการจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0
ในการแข่งขันครั้งนี้ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่เข้าร่วมจะได้เรียนรู้องค์ความรู้และเทคโนโลยีของระบบสมองกลฝังตัวจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อาทิ ได้รับความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการโบราณสถาน การบริหารโครงการ การสร้างระบบฮาร์ดแวร์ ความรู้เกี่ยวกับระบบโครงข่าย LoRaWAN และระบบ CLOUD Computing ประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนา แก้ไขปัญหาตามโจทย์ที่กำหนดขึ้นในแต่ละวันบนหลักการของ Problem-Based Learning สำหรับรูปแบบของการดำเนินแข่งขันในโครงการจะจัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างการแข่งขันจะมีคณะกรรมการประเมินคะแนนสะสมตามหัวข้อและเกณฑ์ที่กำหนด โดยทีมที่มีคะแนนสะสมสูงสุด 4ลำดับแรกจะได้รับรางวัลเงินสดรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาทพร้อมโล่รางวัล
"CAT เข้าร่วมสนับสนุนโครงการนี้ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการด้านดิจิทัลและระบบสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ โดยได้ติดตั้งโครงข่ายสื่อสารLoRaWAN หรือ Long Range Wide Area Network ซึ่งเป็นโครงข่ายที่มีคุณสมบัติสำคัญคือสามารถรับส่งสัญญาณได้ในระยะไกล ใช้พลังงานต่ำ เหมาะกับการรับส่งข้อมูลเพื่อตรวจวัดค่าต่าง ๆ และสนับสนุนอุปกรณ์ LoRa Developer Kit สำหรับการแข่งขัน พร้อมทั้งระบบ IRIS ClOUD สำหรับการเก็บและประมวลผลข้อมูล รวมถึงการโปรแกรมระบบเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันได้สัมผัส เรียนรู้ และทดลองใช้งานจริงตามโจทย์ของการแข่งขัน และยังเป็นการเปิดโอกาสและเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านดิจิทัลให้กับนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขัน" ดร.ณัฏฐวิทย์ กล่าวในที่สุด