สิงห์อมควันอยากเลิกบุหรี่หมอฟันช่วยได้

ข่าวทั่วไป Wednesday December 7, 2005 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะทางเลือกใหม่สำหรับผู้อยากเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง ทันตแพทย์สามารถช่วยได้ ด้วยวิธีการ ๔ ขั้นตอน
วิธีการสำหรับผู้อยากเลิกสูบบุหรี่ซึ่งทันตแพทย์สามารถช่วยได้ เนื่องจากพบว่าคนที่สูบบุหรี่มีปัจจัย เสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์ โรคมะเร็งช่องปาก ซึ่งจัดเป็นอันดับ ๓ ของมะเร็ง ๑๐ อันดับแรกที่คนไทยเป็น ดังนั้นทันตแพทย์จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการดูแลช่วยเหลือให้คำปรึกษาแนะนำให้เลิกบุหรี่ ทั้ง นี้พบว่าผู้ป่วยที่สมัครใจต้องการเลิกบุหรี่กับทันตแพทย์จำนวน ๔๒ คน พบว่าสามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน ๑ สัปดาห์หลังพบทันตแพทย์ คิดเป็นร้อยละ ๑๘.๕ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๓๘ เมื่อผ่านไป ๑ เดือน และ จากการติดตามผลภายใน ๖ เดือน พบผู้ป่วยที่เลิกบุหรี่ได้คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๓
ทันตแพทย์จะมีวิธีการ 4 ขั้นตอน ที่จะช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ได้
๑. จะเป็นการถามประวัติการสูบบุหรี่ ระยะเวลาที่ใช้บุหรี่ เพื่อทันตแพทย์ จะได้ประเมินถึงความยากง่ายต่อการเลิกบุหรี่
๒. จะเป็นการชักชวนเพื่อจูงใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตัดสินใจที่ จะเลิกสูบบุหรี่ซึ่งมีด้วยกันสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังไม่พร้อมในการเลิกสูบ กลุ่มที่ไม่มั่นใจในการเลิกสูบและกลุ่มที่พร้อมจะเลิกสูบ
๓. เป็นขั้นตอนของการวางแผนช่วยเหลือในการเลิก สูบบุหรี่ โดยทันตแพทย์จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย ให้กำลังใจ และร่วมยินดีเมื่อผู้ป่วยสามารถเลิกบุหรี่ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางจิตใจของผู้ป่วยด้วย เพราะเมื่อเลิกผู้สูบจะมีอาการหงุดหงิด ซึ่งสามารถแก้ได้โดยการดื่มน้ำเย็นบ่อยๆ ครั้งละ ๑ - ๒ แก้ว จะช่วยให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น นิโคตินจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกของการเลิกสูบบุหรี่หากรู้สึกปากว่างให้กินของขบเคี้ยวที่ไม่ทำให้ฟันผุ เช่น มะนาวชิ้นเล็กๆ หมากฝรั่ง ยาเม็ดสมุนไพร กานพลู เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และงดดื่มสุรา ชา กาแฟ ซึ่งในช่วง ๗ วันแรกควรมีการออกกำลังเพื่อทำให้ร่างกายผู้เลิกบุหรี่ฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะปอดจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยผ่อนคลายความเครียดที่เกิดจากความอยากสูบบุหรี่ได้ ทั้งนี้ทันตแพทย์ให้ความเชื่อมั่นในตัวผู้ป่วยว่าสามารถจะทำได้อย่างแน่นอน
๔. ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการติดตามผล โดยนัดผู้ป่วยมาติดตามผลครั้งแรกภายใน ๑ - ๒ สัปดาห์ เพราะอาการอยากบุหรี่จะรุนแรงที่สุดในช่วงสามวันแรก ผู้ใกล้ชิดควรให้กำลังใจ และการนัด ครั้งที่ ๒ จะมีขึ้นภายใน ๑ เดือน เนื่องจากผู้ที่เคยเลิกสูบบุหรี่จำนวนมากที่หวนกลับมาสูบใหม่ จึง ต้องทำการติดตามผลอีกเมื่อครบ ๓ และ ๖ เดือน พร้อมนัดตรวจรักษาช่องปากต่อไปทุกๆ ๖ เดือน และให้ผู้ที่ต้องการเลิกสุบบุหรี่จำไว้เสมอว่าการตามใจตัวเองโดยการขอสูบบุหรี่อีกครั้งเพียงมวนเดียวจะทำให้การเลิกบุหรี่ล้มเหลวในทันที
(ที่มา:หนังสือพิมพ์แนวหน้า)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ