กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอิทธิพลพายุโซนร้อน "ปาบึก" ส่งผลกระทบใน 23 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 21 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี รวม 28 อำเภอ 194 ตำบล 1,833 หมู่บ้าน ซึ่ง กอปภ.ก. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 3 - 9 ม.ค.62 อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "ปาบึก" ส่งผลกระทบในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 109 อำเภอ 547 ตำบล 3,608 หมู่บ้าน 133 ชุมชน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 123 หลัง เสียหายบางส่วน 13,840 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบ 242,996 ครัวเรือน 879,838 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย ประชาชนกลับจากศูนย์อพยพแล้วทุกจังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 21 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี รวม 28 อำเภอ 194 ตำบล 1,833 หมู่บ้าน แยกเป็น นครศรีธรรมราช เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 23 อำเภอ ได้แก่ อ.หัวไทร อ.ปากพนัง อ.ขนอม อ.สิชล อ.ท่าศาลา อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.นบพิตำ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งสง อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ทุ่งใหญ่ อ.พิปูน อ.พรหมคีรี อ.ช้างกลาง อ.ถ้ำพรรณรา อ.ฉวาง อ.ลานสกา อ.พระพรหม อ.ชะอวด อ.จุฬาภรณ์ อ.เชียรใหญ่ อ.นาบอน และอ.บางขัน รวม 162 ตำบล 1,600 หมู่บ้าน 105 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 179,868 ครัวเรือน 679,257 คน ผู้เสียชีวิต 2 ราย ปัจจุบันฝนหยุดตกแล้ว สุราษฎร์ธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ดอนสัก อ.บ้านนาเดิม อ.บ้านนาสาร อ.พระแสง และอ.กาญจนดิษฐ์ รวม 32 ตำบล 233 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,607 ครัวเรือน 18,184 คน ปัจจุบันฝนหยุดตกแล้ว ทั้งนี้ กอปภ.ก โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์สถานที่ราชการ และซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รวมถึงเส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์ภัยเริ่มคลี่คลายแล้วให้สำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป พร้อมเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป