กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--เอบีเอ็ม
- เทคโนโลยี IoT และ AI: "ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเท่านั้นที่จะช่วยให้เราเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของเทคโนโลยี IoT ได้"
- เทคโนโลยี IoT รุดหน้า: บ๊อชนำเสนอเทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อกันแห่งอนาคต
- เทคโนโลยี IoT ในบ้าน: อุปกรณ์และเครื่องใช้ในบ้านที่เชื่อมต่อกัน ช่วยให้เจ้าของบ้านใช้ชีวิตได้สะดวกและง่ายดายขึ้นอย่างชัดเจน
- เทคโนโลยี IoT #LikeABosch: บ๊อชเปิดตัวแคมเปญ IoT ระดับโลก
เทคโนโลยี IoT กำลังเปลี่ยนแปลงโลกมากขึ้นทุกขณะ ดังที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนที่งานแสดงนวัตกรรมและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2019 (2019 Consumer Electronics Show: CES) ซึ่งจัดขึ้นที่นครลาสเวกัส โดยบ๊อชได้จัดแสดงเทคโนโลยีต่างๆ ของบริษัทฯ ที่นำมาใช้ได้จริงในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่แนวคิดการออกแบบยานพาหนะขนส่งสาธารณะที่ทำให้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนเกิดขึ้นได้จริง ไปจนถึงตู้เย็นที่มีระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะที่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเก็บและสำรองอาหารในตู้เย็นได้ และแม้กระทั่งเครื่องตัดหญ้าอัจฉริยะที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาการทำงานจากการใช้งานจริงได้ แสดงให้เห็นถึงความตระการตาของโซลูชั่นส์จากบ๊อช ซึ่งถูกนำมาจัดแสดงที่งานแสดงสินค้าอิเลคทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้
"บ๊อชมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี IoT มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เราจึงได้วางแนวทางการพัฒนาโลกแห่งการเชื่อมต่ออย่างจริงจังมาเกือบหนึ่งทศวรรษแล้ว" ดร. มาร์คัส เฮย์น หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบ๊อช กล่าว "ปัจจุบัน เราเป็นบริษัทชั้นนำในด้าน IoT โดยเราเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และ IoT มาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน" การที่บ๊อชมีระบบคลาวด์ IoT เป็นของตัวเอง ช่วยให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาโครงการต่างๆ มากกว่า 270 โครงการ ที่ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อน สมาร์ทโฮม สมาร์ทซิตี้ และเกษตรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนของเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบ Bosch IoT Suite ที่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 40 มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยถึงตอนนี้มีจำนวนเซ็นเซอร์ที่บ๊อชผลิตรวมราว 8.5 ล้านชิ้น
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้าน IoT คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ซึ่งบ๊อชส่งเสริมการพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง "เราจะปลดล็อกศักยภาพของเทคโนโลยี IoT ได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อได้เชื่อมโยงมันเข้ากับเทคโนโลยีเอไอ จึงต้องมีการพัฒนาโครงการด้าน IoT และเอไอควบคู่กันไป" มร. เฮย์น กล่าว ซึ่งเขามีความเห็นว่าเทคโนโลยีทั้งสองนี้ต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน "เทคโนโลยี IoT ต้องการเชาวน์ปัญญา การใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้ในการรวบรวมข้อมูล จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเอไอเท่านั้นที่สามารถทำให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้มีเชาวน์ปัญญา จนสามารถเรียนรู้ที่จะคิดวิเคราะห์หาข้อสรุปและประมวลผลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เหนือสิ่งอื่นใด เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละวันให้ดียิ่งขึ้น มีเวลามากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งมีประสิทธิภาพและความสะดวกสบายยิ่งขึ้น"
นอกจากนี้ มร. เฮย์น ยังยกตัวอย่างเครื่องตรวจจับควันระบบวิดีโอ โดยใช้ระบบวิเคราะห์ภาพแบบอัจฉริยะ และกล้องรักษาความปลอดภัยชนิดต่างๆ ที่ช่วยให้สามารถตรวจจับกองไฟภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งไวกว่าที่ตัวเซ็นเซอร์ของระบบจะสามารถตรวจจับความร้อนและควันไฟได้เสียอีก ระบบนี้ทำให้พบกองไฟได้อย่างรวดเร็วกว่าระบบเดิมมาก จึงช่วยเพิ่มเวลาที่จะปกป้องและรักษาชีวิตของผู้คน
ปัจจัยที่สองในการกรุยทางความสำเร็จสู่ยุค IoT คือการเป็นพันธมิตร โดยบ๊อชร่วมงานกับทั้งผู้เล่นหน้าเดิมและหน้าใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ บ๊อชได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มสัญชาติแคนาดาชื่อ Mojio เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT แบบบูรณาการเพื่อใช้กับยานยนต์ที่เชื่อมต่อกันได้ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ระบบอัลกอริทึมของบ๊อชจะระบุได้ว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ไหน เมื่อใด และรุนแรงเพียงใด ข้อมูลจะส่งผ่านบนระบบคลาวด์ของ Mojio ไปยังศูนย์บริการเหตุฉุกเฉินของบ๊อชอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังศูนย์ให้ความช่วยเหลือของท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ และในขณะเดียวกัน ข้อความก็จะถูกส่งไปยังผู้รับที่มีการกำหนดตั้งค่าไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของข้อความ หรือบนแอปฯ ของ Mojio "การร่วมมือกับ Mojio ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อยานยนต์ได้โดยตรงกับระบบคลาวด์ ซึ่งช่วยให้ความช่วยเหลือต่างๆ ไปถึงจุดเกิดเหตุได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก" มร. ไมค์ แมนซูเอตโต้ ประธานบริษัทบ๊อชในอเมริกาเหนือ กล่าวที่งาน CES ทั้งนี้ นับตั้งแต่กลางปีหน้า ผู้ขับยานยนต์ราว 1 ล้านรายในอเมริกาเหนือและยุโรป จะมีโอกาสได้ใช้โซลูชั่นเทคโนโลยี IoT สำหรับระบบฉุกเฉินแล้ว
เทคโนโนยี IoT รุดหน้า: บ๊อชสร้างสรรค์เทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อกันแห่งอนาคต
บ๊อชได้พัฒนายานยนต์ขนส่งสาธารณะต้นแบบ และเปิดตัวครั้งแรกในโลกที่งาน CES โดยยานยนต์รุ่นนี้ผสานด้วยโซลูชั่นส์ต่างๆ ทั้งด้านระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อ และเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ ซึ่งผู้เข้าชมงานจะมีโอกาสได้สัมผัสกับยานยนต์ขนส่งไร้คนขับเป็นครั้งแรก โดยคาดว่าจะพร้อมโลดแล่นในเมืองต่างๆ ทั่วโลกเร็วๆ นี้ มร. เฮย์น กล่าวว่า "นับเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนของเรา ทั้งการปราศจากการปล่อยก๊าซพิษ การปลอดอุบัติเหตุ และความไร้กังวลที่เป็นไปได้จริงๆ "
นอกจากบ๊อชจะเป็นผู้สร้างสรรค์อุปกรณ์ส่วนประกอบและระบบต่างๆ ของเทคโนโลยีการขับเคลื่อนสำหรับการขนส่งสาธารณะแล้ว บริษัทฯ ยังให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการขับเคลื่อน อาทิ การจอง การแชร์รถ และแพลตฟอร์มด้านระบบเชื่อมต่อต่างๆ รวมทั้งที่จอด และการบริการเติมแบตเตอรี่อีกด้วย ซึ่งบ๊อชเชื่อว่าการบริการระบบเชื่อมต่อเหล่านี้ มีความสำคัญต่อเทคโนโลยีการขับเคลื่อนสำหรับอนาคตอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ปริมาณการซื้อขายในตลาดเกี่ยวกับบริการเหล่านี้อยู่ในระดับที่สูง โดยจากที่มีมูลค่า 4.7 หมื่นล้านยูโรในปี 2560 คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มเป็น 14 หมื่นล้านยูโรภายในปี 2565 (ที่มา: ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ - PwC) และที่สำคัญ บ๊อชตั้งเป้าส่วนแบ่งในตลาดนี้ โดยมีเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มโซลูชั่นส์เหล่านี้ในอัตราเลขสองหลัก มร. เฮย์น กล่าวด้วยความมั่นใจว่า "ในอนาคต ยานยนต์บนถนนทุกคันจะต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของบ๊อช โดยเราจะรวบรวมเทคโนโลยีต่างๆ ไว้ด้วยกัน ภายใต้ระบบนิเวศของการเชื่อมต่อที่ทั้งชาญฉลาดและไร้รอยต่อ"
หนึ่งในอุปสรรคขั้นสุดท้ายในการนำเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้านการขนส่งด้วยรถสาธารณะมาสู่การใช้งานจริงคือ ระบบอัตโนมัติของยานยนต์ที่จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมของเมืองที่ยุ่งเหยิง เพราะฉะนั้น บ๊อชจึงเชื่อว่าการหาพันธมิตรคือคำตอบที่ดีที่สุด โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เมืองซาน โฮเซ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ซิลิคอน แวลลี่ย์ของแคลิฟอร์เนีย จะเป็นเมืองต้นแบบสำหรับการทดลองการบริการใช้รถร่วมกันโดยใช้ระบบอัตโนมัติและไร้คนขับโดยสมบูรณ์ ซึ่งบ๊อชร่วมพัฒนาขึ้นกับเดมเลอร์ (Daimler) โดยมีการลงนามความร่วมมือจากทั้ง 3 ฝ่ายเรียบร้อยแล้ว จากการผสานความร่วมมือในครั้งนี้ บ๊อชและเดมเลอร์ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองให้คล่องตัวมากขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยบนถนน อีกทั้งยังวางรากฐานโครงสร้างที่สำคัญสำหรับการจราจรในอนาคต โดยเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายคือ การพัฒนาระบบขับขี่ให้เป็นการขับขี่แบบไร้คนขับด้วยระบบอัตโนมัติที่สมบูรณ์แบบ (ระบบขับขี่อัตโนมัติตามมาตรฐาน SAE Level 4/5) ที่พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการผลิตภายในต้นทศวรรษหน้า
เทคโนโลยี IoT ในบ้าน: อุปกรณ์และเครื่องใช้ในบ้านที่เชื่อมต่อกัน ช่วยให้ชีวิตของเจ้าของบ้านสะดวกและง่ายดายขึ้นอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์และการบริการที่เชื่อมกันบนท้องถนนซึ่งทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายขึ้นเท่านั้นที่เป็นที่ต้องการ มร. เฮย์น กล่าวว่า "เรากำลังพัฒนาแนวคิดในเรื่องบ้านที่เชื่อมต่อกัน รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องใช้ในบ้านที่สามารถคิดวิเคราะห์ได้เองโดยอัตโนมัติ และเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน" ยกตัวอย่างเช่น ในงาน CES บริษัทฯ ได้แสดงฟังก์ชั่นใหม่ล่าสุดสำหรับตู้เย็นระบบเว็บเบส (web-enabled) ที่สามารถจดจำประเภทอาหาร และให้คำแนะนำในการจัดเก็บและสำรองอาหารในตู้เย็นได้ โดยกล้องที่ติดตั้งภายในตู้เย็นจะจดจำชนิดของผักและผลไม้ราว 60 ชนิดโดยอัตโนมัติ และแนะนำตำแหน่งการจัดเก็บที่ดีที่สุดผ่านทางแอปฯ จึงช่วยให้การเก็บอาหารเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม สามารถเก็บความสดไว้ได้นานขึ้น และลดการทิ้งของเสียให้น้อยลง
นอกจากนี้ บ๊อชยังได้คิดค้นโปรเจคเตอร์ PAI ที่สามารถฉายจอภาพอินเทอร์เฟซแบบเสมือนจริงบนเคาน์เตอร์ครัว เซ็นเซอร์สามมิติแบบบูรณาการจะจับการเคลื่อนไหวของมือ โดยผู้ใช้งานจะใช้มือสัมผัสที่จอภาพเพื่อออกคำสั่งทำงาน ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสูตรทำอาหารทางออนไลน์ และแม้กระทั่งโทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในระหว่างทำอาหารหรืออบอาหารอยู่ โปรเจคเตอร์ PAI ถูกออกแบบมาสำหรับสภาพการใช้งานในครัวโดยเฉพาะ จึงมีความทนทาน ไม่ต้องระวังเรื่องการใช้งานเหมือนกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และแม้นิ้วมือจะเหนียวเหนอะหนะ ก็ยังคงสามารถสั่งการโปรเจคเตอร์นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนเปิดตัว PAI ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ที่ประเทศจีนเป็นที่แรก ก่อนนำออกสู่ตลาดในสหรัฐอเมริกาต่อไป
ไม่เพียงเท่านั้น บ๊อชยังเปิดตัว Indego S+ หุ่นยนต์ตัดหญ้าซึ่งสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในงาน CES นี้ด้วย โดยนับเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ตัดหญ้ารุ่นแรกๆ ที่ใช้ระบบควบคุมด้วยเสียงโดย Amazon Alexa และยังเป็นหุ่นยนต์ตัดหญ้าเพียงรุ่นเดียวที่สามารถเชื่อมต่อการพยากรณ์อากาศบนเว็บไซต์ เพื่อวิเคราะห์ว่าควรตัดหญ้าครั้งต่อไปเมื่อใด นอกจากนี้ บ๊อชได้นำเทคโนโลยีเอไอมาพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถจดจำสิ่งกีดขวางต่างๆ บนสนามหญ้า โดยการประเมินข้อมูลต่างๆ เช่น การทำงานของมอเตอร์ ความเร่ง ความเร็วของมอเตอร์ และทิศทาง มร. เฮย์น กล่าวว่า "เราใช้เทคโนโลยีเอไอมาช่วยให้การตัดหญ้าเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น เป้าหมายคือการทำให้ Idego สามารถปรับการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพของหญ้าในสวน เพื่อให้งานตัดหญ้าออกมาสมบูรณ์แบบและสวยงามทุกครั้ง"
เทคโนโลยี IoT #LikeABosch: บ๊อชเปิดตัวแคมเปญ IoT ระดับโลก
ท้ายสุด บ๊อชใช้โอกาสนี้เปิดตัวแคมเปญใหม่ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นแคมเปญภาพลักษณ์ IoT โดยหมัดเด็ดของแคมเปญ คือ การใช้คลิปวิดีโอเพลงแนวฮิปฮอปที่มีตัวเอกเป็นผู้ใช้งานที่เชี่ยวชาญด้าน IoT กล่าวได้ว่า บ๊อชกำลังก้าวเข้าสู่อาณาจักรใหม่ของธุรกิจด้วยการชูแคมเปญ "Like a Bosch" ที่สะท้อนแนวทางและรูปแบบที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดสำหรับการเดินทางครั้งใหม่ของบริษัทฯ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2429 ซึ่งชิ้นงานพีอาร์ครั้งนี้ ต่อยอดมาจากไวรัลคลิปวิดีโอและมีมยอดฮิตในธีม 'like a boss' ที่มีการแชร์กันอย่างแพร่หลายบนอินเทอร์เน็ต ด้วยยอดวิวหลายสิบล้านครั้ง โดยตัววิดีโอจะแสดงภาพผู้คนที่ทำอะไรแผลงๆ หรือผาดโผน เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่คับขันได้อย่างมีชั้นเชิง
แคมเปญภาพลักษณ์ IoT ของบ๊อช จะใช้การเปลี่ยนตัวอักษรเพียงบางตัว เพื่อเพิ่มลูกเล่นดึงดูดความสนใจบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยตัวเอกเป็นผู้ชายที่สามารถควบคุมและจัดการทุกอย่างได้อย่างง่ายดาย ด้วยการใช้โซลูชั่นส์ที่เชื่อมต่อกันของบ๊อช ซึ่งเพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟน เขาก็สามารถสั่งการรถยนต์ เครื่องตัดหญ้า และแม้กระทั่งเครื่องทำกาแฟได้อย่างเท่ สมาร์ท และคล่องแคล่วมั่นใจ เรียกได้ว่า เขาสามารถจัดการทุกเรื่องได้อยู่หมัดในแบบ 'like a Bosch' เลยทีเดียว
เกี่ยวกับบ๊อชในประเทศไทย
บ๊อชได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ปัจจุบัน บ๊อชสร้างความหลากหลายในธุรกิจถึงสี่ด้าน ได้แก่ โซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อน เทคโนโลยีอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร บริษัทมีโรงงานผลิตในธุรกิจโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนถึงสามแห่ง พร้อมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา อีกทั้งสำนักงานขายและศูนย์บริการสำหรับอุปกรณ์ไฮดรอลิกและเครื่องจักรในจังหวัดระยอง และสายการผลิตโซลูชั่นส์และการบริการส่วนเครื่องจักรเพื่อบรรจุภัณฑ์ในจังหวัดชลบุรี ในปี 2560 บ๊อชในประเทศไทยมียอดขาย 12.8 พันล้านบาท (335 ล้านยูโร) และมีพนักงานราว 1,400 คน ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.bosch.co.th และ https://www.facebook.com/BoschThailand
เกี่ยวกับบ๊อช
กลุ่มบริษัทบ๊อช ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลก มีพนักงานทั่วโลกกว่า 402,000 คน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560) ในปี 2560 บริษัทมียอดขายรวมทั้งสิ้นกว่า 7.8 หมื่นล้านยูโร โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจสำคัญได้แก่ กลุ่มโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อน กลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร ในฐานะผู้นำทางด้าน IoT (Internet of Things) บ๊อชนำเสนอนวัตกรรมแห่งโซลูชั่นส์เพื่อบ้านอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ยานยนต์ และ อุตสาหกรรมที่สามารถเชื่อมต่อถึงกัน ด้วยความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเซนเซอร์ ซอฟต์แวร์ และการให้บริการ รวมถึงไอโอทีคลาวด์ของบ๊อชเอง เราจึงสามารถให้บริการโซลูชั่นส์ที่เชื่อมต่อแบบข้ามโดเมนได้เบ็ดเสร็จจากแหล่งเดียว เป้าหมายกลยุทธ์ของเรา คือการส่งมอบนวัตกรรมและสร้างแรงบันดาลใจเพื่อชีวิตที่เชื่อมต่อถึงกัน ผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดได้รับการออกแบบมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการเสนอคำตอบที่ล้ำสมัยและเป็นประโยชน์ที่นับได้ว่าเป็น "เทคโนโลยีเพื่อชีวิต" กลุ่มบ๊อช ประกอบด้วยบริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จีเอ็มบีเอช และบริษัทในเครืออีกกว่า 440 บริษัท รวมถึงสำนักงานระดับภูมิภาคในประเทศต่างๆ อีกกว่า 60 ประเทศ หากรวมบริษัทคู่ค้าผู้จัดจำหน่ายและให้บริการต่างๆ ทั้งส่วนการผลิตงานวิศวกรรม และเครือข่ายด้านการขาย บ๊อชครอบคลุมอยู่เกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะพื้นฐานสำคัญสำหรับการขยายตัวในอนาคตของบริษัทขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม บริษัทจึงมีพนักงานในส่วนการวิจัยและพัฒนากว่า 64,500 คน ในศูนย์วิจัยกว่า 125 แห่งทั่วโลกในปัจจุบัน