กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ว่า จากการที่ประเทศสมาชิกสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งเอเชีย (Asian Soil Partnership หรือ ASP) ได้ร่วมกำหนดประเด็นปัญหาหรือแนวทางการปฏิบัติที่ครอบคลุมด้านนโยบาย การศึกษาวิจัยโดยเน้นให้มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และตระหนักถึงประโยชน์สูงสุดจากการบูรณาการข้อมูลวิจัยดินของประเทศสมาชิก พร้อมทั้งได้เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ CESRA โดยเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดตั้งศูนย์ CESRA เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล การวิจัย และนวัตกรรมด้านทรัพยากรดินของภูมิภาค ส่งเสริมงานวิจัยสร้างเครือข่ายศูนย์วิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์ และข้อมูลด้านทรัพยากรดิน ที่สนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพยากรดินแห่งภูมิภาคเอเชียให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบข้อมูลทรัพยากรดินโลก และนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จตามกฎบัตรดินโลกที่กำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่ง สหประชาชาติ (FAO) ซึ่งไทยได้เปิดตัวศูนย์ CESRA อย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยได้มีการเสวนาแนวทางในการขับเคลื่อนศูนย์ กำหนดทิศทาง ในการพัฒนาศูนย์ CESRA
เพื่อให้การขับเคลื่อนสู่แผนการดำเนินงานของศูนย์ CESRA ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (Workshop on CESRA action plan formulation) ขึ้น ในระหว่างวันที่ 8 – 9 มกราคม 2562 ณ ศูนยวิจัยการอนุรักษดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ กรมพัฒนาที่ดิน คณะกรรมการและผู้ปฏิบัติงานขับเคลื่อนศูนย์ CESRA ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน จำนวน 100คน โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมความคิดเห็นการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ CESRA ตลอดทั้งนำข้อเสนอแนะจากการเปิดตัวศูนย์ วัตถุประสงค์ของ CESRA กรอบการดำเนินงาน ASP การพัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัย การฝึกอบรม การสร้างเครือข่ายสำหรับขับเคลื่อนศูนย์ CESRA ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชีย และประเด็นสำคัญอื่น ๆ มาพิจารณาเพื่อจัดทำแผนการขับเคลื่อนศูนย์ฯ ซึ่งจะทำให้ได้แผนการดำเนินงานและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งเป็นการเตรียมการสำหรับการจัดเสนอแผนการดำเนินงานและประเด็นสำคัญของ CESRA ต่อที่ประชุม ASP ครั้งที่ 5 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศอินเดีย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ต่อไป
"การขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานจะเกิดความสำเร็จได้ ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคน ข้อมูลยุทธศาสตร์ การอำนวยการ และการพัฒนาเครือข่าย ซึ่งจะต้องบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายภายในประเทศก่อน ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งพันธมิตรความร่วมมือทรัพยากรดินของประเทศ หรือ Thailand Soil Partnership หรือ TSP เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือไปยัง ASP และทั่วโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนต่อไป" นายวิวัฒน์ กล่าว