การเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 – 31 มกราคม 2562

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 9, 2019 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรการฯ) และมีมติเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 เพิ่มช่องทางวิธีชำระเงินและวิธีการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ มาตรการฯ เปิดลงทะเบียนให้แก่ประชาชนที่สนใจ ตั้งแต่วันที่ 7 – 31 มกราคม 2562 ผ่านเว็บไซต์ www.epayment.go.th ซึ่งมาตรการฯ ดังกล่าวจะสามารถเริ่มซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมถึงสินค้าภาษีสรรพสามิต 5 ประเภท ได้แก่ สุรา ยาสูบ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน รถยนต์ และรถจักยานยนต์) ในช่วงวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2562 กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale: POS) ที่สามารถแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ออกจากราคาสินค้าและบริการได้ และจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 ทั้งนี้ จะจ่ายเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน หรือเท่ากับการซื้อสินค้าและบริการ 21,400 บาท โดยจ่ายเข้า ระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชน และผู้ลงทะเบียน 1 คนมี 1 สิทธิ์ต่อ 1 เลขที่บัญชีที่แจ้งในการลงทะเบียนไว้ สำหรับเงื่อนไขที่ประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการฯ มีดังนี้ 1. ประชาชน 1.1 เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547) 1.2 เป็นผู้ถือบัตรเดบิตของธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการฯ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารทิสโก้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารไอซีบีซี และธนาคารออมสิน หรือมีระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการฯ เช่น QR Code เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละธนาคารว่าสามารถรองรับการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ อื่นใด (สามารถดูรายละเอียดการให้บริการการชำระเงินของแต่ละธนาคารได้ที่เว็บไซต์ www.epayment.go.th) 1.3 ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ (ระหว่างวันที่ 7- 31 มกราคม 2562) 1.4 สมัครใช้บริการพร้อมเพย์ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนผูกกับบัญชีธนาคารใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบัญชีธนาคารเดียวกับที่นำมาลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชย โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ ผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 2. ผู้ประกอบการร้านค้า 2.1 เป็นผู้ประกอบการร้านค้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.2 มีระบบ POS ที่ช่วยเก็บบันทึกการขาย รายละเอียดสินค้า คำนวณยอดขาย และพิมพ์ใบกำกับภาษี โดยเชื่อมต่อกับเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าที่มีระบบ POS ต้องทำ การปรับปรุงและทดสอบ เพื่อให้สามารถส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่นเดียวกับระบบที่ใช้ภายใต้มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ชำระ 2.3 สมัครเข้าร่วมมาตรการฯ ที่กรมบัญชีกลางโดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มใบสมัคร ที่เว็บไซต์ www.epayment.go.th สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าในเขตกรุงเทพมหานครฯ สามารถยื่นแบบฟอร์มใบสมัครผ่านกรมบัญชีกลาง กองบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ และสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าและสำหรับเขตพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถยืนใบสมัครผ่านสำนักงานคลังจังหวัด หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสมัครเป็นผู้ประกอบการร้านค้าภายใต้มาตรการฯ ได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง โทร 0 227 0 6400

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ