กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางประชุมชี้แจงผู้แทนจากสามาคมธนาคารไทย ธนาคารกรุงไทย และผู้ประกอบการร้านค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 8 มกราคม 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนที่ชำระเงินซื้อสินค้าหรือรับบริการ ในช่วงระหว่าง 1 - 15 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มคืนร้อยละ 5 สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน เมื่อมีการใช้บัตรเดบิตของตนเองซึ่งออกในประเทศไทย หรือชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ผู้ให้บริการได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการชำระเงินภายใต้การกำกับ อาทิ ชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Standard QR Code Payment) ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการชำระโดยบัตรเครดิต และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการชำระเงิน การรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และกำหนดรายการสินค้าและบริการที่จะไม่ได้รับสิทธิ (Negative List) ของมาตรการส่งเสริมการชำระเงินฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และมอบหมายให้กรมบัญชีกลางดำเนินการรับสมัครผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจเข้าร่วม มาตรการดังกล่าว จึงได้จัดประชุมในวันที่ 8 มกราคม 2562 เพื่อชี้แจงขั้นตอน วิธีดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับสมัครและการดำเนินการเกี่ยวกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จะพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการสมัครได้จากเว็บไซต์ www.cgd.go.th ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2561 โดยเอกสารที่ร้านค้าต้องใช้ในการสมัคร ได้แก่ 1.แบบฟอร์มฯ การสมัครที่กรอกข้อมูลแล้ว 2.สำเนาทะเบียนพาณิชย์/สำเนาหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัท 3.สำเนาใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.20) กรณีมอบอำนาจ ต้องมีใบมอบอำนาจ และบัตรประชาชนผู้มอบ และผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร สมัครได้ที่กรมบัญชีกลาง ณ ห้องกำปั่นเงิน อาคาร 3 ชั้น 1 ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าที่ตั้งในส่วนภูมิภาค สมัครได้ที่สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ ในส่วนของประชาชนที่สนใจเข้าร่วมมาตรการฯ สามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.epayment.go.th และสาขาธนาคารเจ้าของบัตรเดบิต (ขอความร่วมมือช่วยรับลงทะเบียน ผ่านทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th) ระหว่างวันที่ 7 - 31 มกราคม 2562
หลังจากการประชุมร่วมกันในวันดังกล่าวแล้ว จะเริ่มทดสอบการรับส่งข้อมูลผ่านระบบ ที่สามารถระบุถึง วันที่ และเวลาในการชำระค่าสินค้าและบริการของประชาชน เพื่อแยกรายการสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) เพื่อจ่ายเงินชดเชยคืนให้แก่ประชาชน ซึ่งตามมาตรการจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ชำระเงินที่ใช้บัตรเดบิตของตนเอง ในการซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2562 โดยจะแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ออกจากราคาสินค้าและบริการที่ได้ชำระ และจะจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 โดยจะจ่ายคืนสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการที่สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ต้องมีคุณสมบัติ คือ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) ที่ช่วยเก็บบันทึกการขาย รายละเอียดสินค้า คำนวณยอดขายและพิมพ์ใบกำกับภาษี โดยเชื่อมต่อกับเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture : EDC)
ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มคืนดังกล่าว ได้มีการดำเนินการอยู่แล้วสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีการใช้จ่ายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และร้านค้าเอกชนอื่นที่เข้าร่วมโครงการ ดังนั้น การดำเนินการครั้งนี้เป็นการขยายมาตรการไปถึงกลุ่มประชาชนทั่วไป และขยายกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าที่จะเข้าร่วมมาตรการฯ นี้ต้องลงทะเบียนกับกรมบัญชีกลาง พร้อมทั้งต้องทำการปรับปรุง และทดสอบระบบ POS เพื่อให้สามารถรับและส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เช่นเดียวกับระบบเดิมที่ใช้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
นอกจากนี้ สำหรับร้านค้าที่ต้องการรับชำระด้วยระบบ QR Payment จะต้องมีเครื่องรับชำระบัตรเดบิต (EDC) ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบบันทึกการเก็บเงิน POS และสามารถแสดง Dynamic QR Code เพื่อรองรับการรับชำระค่าสินค้าและบริการในลักษณะ C Scan B ซึ่งจะต้องประสานกับธนาคารผู้ให้บริการรับชำระเงิน (Acquirer Banks) หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันในช่วงเวลาดังกล่าว กรมบัญชีกลางมี Module QR ประชารัฐ ให้กับร้านค้าที่ต้องการรับชำระด้วยระบบ QR Payment ได้อีกช่องทางหนึ่ง