กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร
ดร.นำพน พิพัฒน์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มีแผนในการเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อขับเคลื่อนโครงการวิจัยตอบโจทย์แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 และยุทธศาสตร์จังหวัดว่าด้วยเมืองแห่งสมุนไพร เนื่องจากในปี 2561 ที่ผ่านมา มทร.อีสาน วข.สกลนคร ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อการกลั่นน้ำมันหอมระเหยเชิงพาณิชย์ โดยการสนับสนุนงบประมาณวิจัยประจำปี 2561 จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร (องค์การมหาชน) หรือที่รู้จักกันในนาม สวก. ในกลุ่มเรื่อง สมุนไพรไทย อาหารเสริมและสปา กรอบการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่มีศักยภาพเป็นเครื่องสำอางหรือส่วนประกอบของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา
ทีมนักวิจัยสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้ร่วมมือร่วมใจกันดำเนินโครงการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ออกแบบเครื่องกลั่น ระบบการกลั่น การทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัย และได้มาตรฐาน เรื่อยมาจนปัจจุบันกลายเป็นโรงงานต้นแบบที่สามารถกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรไทยได้หลากหลายชนิด อาทิเช่น ตะไคร้แกง ตะไคร้หอม ไพล ข่า ขมิ้นชัน ว่านสาวหลง เป็นต้น และเน้นวัตถุดิบที่มีการปลูกในพื้นที่ชุมชนจังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายพืชสุมนไพรดังกล่าว และยังสามารถนำน้ำมันหอมระเหยไปต่อยอดเป็นสินค้าของชุมชนและของจังหวัดสกลนครได้อีกช่องทางหนึ่ง
ดร.นำพน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยไทยมีความต้องการในตลาดจำนวนมาก เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยไทยมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ กอปรกับมีคุณสมบัติทางยาที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก โดยมีการผลิตยาเพื่อการรักษาโรคต่างๆ เนื่องจาก น้ำมันหอมระเหยมีสารประกอบที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่มีผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย และสามารถบรรเทาอาการป่วยบางชนิดได้ เช่น มีไข้ วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ น้ำมันหอมระเหยจึงถูกนำมาใช้ในการรักษาโดยแพทย์แผนไทยที่มีการปรับปรุงและพัฒนาให้ได้มาตรฐานระดับสากล และกำลังเป็นที่นิยมนำไปใช้งานในด้านการพาณิชย์ เช่น การนวดสปา การนวดแผนไทย ส่วนผสมเครื่องสำอาง สบู่ ยาสระผม ธูปหอม ครีมนวด น้ำมันนวด น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ไล่แมลงต่างๆ และผลิตภัณฑ์อโรมา เป็นต้น โดยน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ที่ได้จากการกลั่นแยกจะมีกลิ่นหอมและติดทนกว่าน้ำมันหอมระเหยที่ผสมจากสารเคมีเลียนแบบธรรมชาติ ดังนั้นอนาคตของน้ำมันหอมระเหยจึงเป็นเป้าหมายที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนครจะเดินหน้าขับเคลื่อนและดำเนินกิจการโรงงานต้นแบบเพื่อการกลั่นน้ำมันหอมระเหยเชิงพาณิชย์แห่งแรกในภาคอีสาน ซึ่งแต่เดิมหากมีวัตถุดิบ คือ ตะไคร้หอม จำนวน 100 กิโลกรัม สามารถนำมาผ่านขั้นตอนการผลิตแล้วได้น้ำมันหอมระเหย 180-250 มิลลิลิตร เท่านั้น แต่โรงงานต้นแบบของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร มีเครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยที่มีขนาดใหญ่ความจุถัง 500 ลิตร ถึง 2 เครื่อง จะได้น้ำมันหอมระเหยถึง 500 มิลลิลิตร (ต่อวัน) จากวัตถุดิบ 200 กิโลกรัม และยังมีระบบการกลั่นและระบบสนับสนุนต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาจากทีมนักวิจัยมาเป็นอย่างดี จึงสามารถกลั่นน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่มีคุณภาพดี มีปริมาณที่เพียงพอต่อการนำไปใช้งานในกิจกรรมต่างๆ โดยเริ่มทำการตลาดผ่านช่องทางการขายออนไลน์ครับ
จากการค้นคว้าในห้องวิจัยหรือแล็ปขนาดเล็กๆ นำไปสู่การสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ (สวก.) วันนี้ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ต่อยอดงานวิจัยให้กลายเป็นโรงงานต้นแบบกลั่นแยกน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ 100 % แห่งแรกในภาคอีสาน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้และห้องวิจัยของนักศึกษา อาจารย์ มทร.อีสาน สถานศึกษาในชุมชนและสถานศึกษาในจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าศึกษาดูงานอีกด้วย
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ด้านอาหาร (Food) และสุขภาพ (Health) ผ่านการก่อสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อการกลั่นน้ำมันหอมระเหยเชิงพาณิชย์นี้ เป็นการสอดคล้องแผนแม่บทแห่งชาติ ยุทธศาสตร์จังหวัด และยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ได้เป็นอย่างดีและตอบโจทย์การทำงานอันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ฝากถึงส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรต่างๆ บุคคลทั่วไป และนักเกษตรทุกท่านที่สนใจ สามารถเข้าศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการกลั่นน้ำมันหอมระเหย ได้ที่โรงงานต้นแบบเพื่อการกลั่นน้ำมันหอมระเหยเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งติดต่อเข้าเยี่ยมชมได้ที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร อ.พังโคน จ.สกลนคร โทรศัพท์ 042-772158 ดร.นำพน กล่าวทิ้งท้าย