กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ-กระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย จับมือลงนาม MOU ความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์และดิจิทัลระหว่างราชอาณาจักรไทยและเครือรัฐออสเตรเลีย ปูทางสู่การแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์รวม 5 ข้อ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า วันนี้ (วันที่ 10 มกราคม 2562) ได้มีพิธีลงนามร่วมกับนางมาริส เพย์น (Senator the Honourable Marise Payne) รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและการค้าเครือรัฐออสเตรเลีย ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์และดิจิทัลระหว่างราชอาณาจักรไทยและเครือรัฐออสเตรเลีย (Memorandum of Understanding on Cyber and Digital Cooperation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Australia) โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นสักขีพยานในการลงนาม ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ตามกฎหมายและนโยบายภายในประเทศของแต่ละประเทศ และข้อผูกพันระหว่างประเทศ โดยขอบเขตความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ครอบคลุมหลักๆ ดังนี้ 1. การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2. การพัฒนาทักษะด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และ 3. การยึดมั่นในเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศในโลกไซเบอร์
ในส่วนขอบเขตความร่วมมือด้านดิจิทัล ประกอบด้วย 1. การแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีเลิศและการส่งเสริมนวัตกรรม โดยการสนับสนุนการแบ่งปันนโยบายระดับชาติ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล และ 2. ความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัลและความมั่นคงทางไซเบอร์
"บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของผม และเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ในการจัดทำความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียได้ให้ความสำคัญในด้าน Cybersecurity เป็นอย่างมาก โดยมีนโยบายให้หน่วยงานด้านไซเบอร์สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังให้ความสำคัญในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่สำคัญของประเทศ รวมถึงส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ในการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์" ดร.พิเชฐฯ กล่าว