กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานพื้นที่ได้รับผลกระทบจาก พายุโซนร้อน "ปาบึก" รวม 23 จังหวัด รวม111 อำเภอ 563 ตำบล 3,769 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายรวม 53,413 หลัง สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 21 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เน้นย้ำจังหวัดเร่งสำรวจ ความเสียหายเพื่อให้การความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเร่งด่วนใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการดำรงชีพ เน้นการดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตและบ้านเรือน ที่เสียหาย ด้านการประกอบอาชีพของประชาชนโดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ที่เสียหาย ในส่วนของบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งมอบพื้นที่ปฏิบัติงานและร่วมกันซ่อม/สร้างที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัย ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 3 - 11 ม.ค.62 อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "ปาบึก" ส่งผลกระทบในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 111 อำเภอ 563 ตำบล 3,769 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายรวม 53,413 หลัง แยกเป็น เสียหายทั้งหลัง 405 หลัง เสียหายบางส่วน 53,008 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบ 265,132 ครัวเรือน 883,572 คน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 21 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี รวม 25 อำเภอ 168 ตำบล 1682 หมู่บ้าน แยกเป็น นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 23 อำเภอ รวม 165 ตำบล 1,671 ประชาชนได้รับผลกระทบ 199,864 ครัวเรือน 679,257 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ส่วนที่สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 16 อำเภอ รวม 80 ตำบล 555 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,490 ครัวเรือน 37,142 คน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.พระแสง และ อ.เวียงสระ รวม 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน 113 ครัวเรือน 452 คน ทั้งนี้ กอปภ.ก โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้จังหวัดประสานการปฏิบัติกับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่จังหวัด เพื่อประสานข้อมูลและมาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยให้มีความครบถ้วน สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้จังหวัดร่วมกับ ก.ช.ภ.จ. เร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้การความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบและหลักเกณฑ์ฯ ที่กำหนด โดยให้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเร่งด่วนใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการดำรงชีพ เน้นการดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต บ้าน ที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนการดูแลสุขภาพจิตใจ ด้านการประกอบอาชีพของประชาชน ประกอบด้วย ด้านการเกษตร ด้านการประมง ด้านปศุสัตว์ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ อาทิ ถนน สะพาน ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา และสถานที่ราชการที่ได้รับความเสียหาย ให้จังหวัดประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบปรับแผนเพื่อดำเนินการซ่อมแซมให้สามารถใช้การได้ตามปกติต่อไป ในส่วนของกรณีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับความเสียหาย ให้จังหวัดร่วมกับหน่วยทหารในพื้นที่ อาสาสมัคร สถาบันอาชีวศึกษา กศน. ตลอดจนประชาชนจิตอาสา แบ่งมอบพื้นที่ปฏิบัติงานและร่วมกันซ่อม/สร้างที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัย ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป