กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ ชู"ออนไอที วัลเลย์ วิถีล้านนา" จ.เชียงใหม่ ชุมชนต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ผสมผสานไอทีเข้ากับวิถีในแบบล้านนา สร้างเป็นศูนย์บ่มเพาะเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs StartUP เกษตรกร และชุมชน เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนเพื่อเป็นรากฐานที่ต่อยอดสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการช่วงครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 13 – 15 มกราคม 2562 จังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง ในช่วงก่อนประชุม ครม.ได้มีโอกาสติดตามความคืบหน้าโครงการ "พัฒนาพื้นที่เพื่อระบบนิเวศสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลเชียงใหม่ Smart Agriculture" ณ Oon IT Valley เมืองไอที วิถีล้านนา หรือ ออนไอที วัลเลย์ ที่ตั้งอยู่ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
โครงการ "ออนไอที วัลเลย์" ได้รับความสนับสนุน และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัท โปรซอฟท์ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs StartUP และเกษตรกร ให้มีความรู้ ความสามารถในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้มีขีดความสามารถของการแข่งชันภายใต้สภาวะที่มีการแข่งขันสูง สามารถพึ่งพาตนเองและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เป็นรากฐานที่ต่อยอดสู่ความเป็น Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไปในอนาคต
"ออนไอที วัลเลย์"นับเป็นชุมชนต้นแบบที่มีการผสมผสานเรื่องของไอทีเข้ากับวิถีในแบบล้านนาได้อย่างลงตัว ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ สร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาให้กับ SMEs StartUP เกษตรกร และชุมชน ให้มีความรู้ นำเทคโนโลยีเข้าไปส่งเสริมการทำเกษตร สร้างรายได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นต้นแบบการเกษตรอัจฉริยะ ที่ประสบความสำเร็จด้านเกษตรนวัตกรรมที่นำมาปฎิบัติได้จริงอย่างหลากหลาย"
ชุมชนแห่งนี้เปรียบเสมือนชุมชนไอทีแห่งการแบ่งปันเพื่อ SMEs ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท โปรซอฟท์ ในการแบ่งปันซอฟแวร์ทางด้านบัญชีมาให้บริษัท Tech StartUp ได้ใช้งานฟรี เป็นเวลา 2 ปี จนกว่าจะสามารถตั้งตัวได้ นอกจากนี้ในพื้นที่ ยังมีส่วนที่เรียกว่า "Dutch Farm" แหล่งท่องเที่ยวที่สามารถให้คนทั่วไปได้ใกล้ชิดสัตว์นานาชนิด มีระบบ IBeacons เทคโนโลยีการบอกตำแหน่งและส่งข้อมูลโดยตรงไปยังสมาร์ทโพน เพื่อสื่อสารให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งเด็กแลผู้ใหญ่ และพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าอินทรีย์แปรรูป ของเกษตรกรที่เข้ามาขายสินค้าของตนเองโดยมีคิดค่าเช่า
กิจกรรมด้านการเกษตรที่ปฎิบัติได้จริงภายในศูนย์ฯ "ออนไอที วัลเลย์" ต้นแบบการเกษตรอัจฉริยะนั้น มีการนำนวัตกรรมการเพาะปลูกข้าวสมัยใหม่แบบแม่นยำ เพื่อลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกข้าวด้วยหลักการการแกล้งข้าว ประกอบด้วย การจัดทำโปรแกรมพัฒนาระบบและApplication ต้นแบบ ระบบฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farming) สำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ ติดตั้งโครงข่ายอุปกรณ์ตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาศ (Weather Station) แบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจวัดปัจจัยต่างๆในแปลงนาได้แบบ real-time และส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย โทรศัพท์ ซึ่งสามารถตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาศได้ ประกอบด้วย อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์อากาศ ความเข้มแสงและชั่วโมงแสงแดด ปริมาณน้ำฝน ความเป็นกรดด่างของน้ำฝน ความเร็วลมและทิศทางลม เพื่อพัฒนาไปสู่การทำคลังข้อมูลเพื่อใช้ ในการพยากรณ์สถาวะต่างๆเช่นการเกิดโรคพืช เป็นต้น
ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำในนาข้าวแบบไร้สายในพื้นที่แปลงนาโดยเซ็นเซอร์เป็นแบบ Stand alone พร้อมแหล่งพลังงานงานได้เองจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับ-ส่งข้อมูลด้วยสัญญาณวิทยุ (หรือเทียบเท่าในต้นทุนที่เท่ากัน) มายังอุปกรณ์ประมวลผลและควบคุมการเปิด-ปิดน้ำเข้าแปลงนาอัตโนมัติ ตลอดจนสามารถแสดงผลสถานการณ์ทำงานผ่านแอปพลิเคชั่นได้แบบ real-time ซึ่งอาศัยความสามารถของระบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดระดับน้ำในนาข้าวแบบไร้สาย โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้ามาสนับสนุนในรูปแบบ "Smart Farm" เป็นการพัฒนาทั้งในส่วนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อเสริมศักยภาพให้กับอาชีพเกษตรกรรายย่อย เป็นเครื่องมือที่มีราคาถูก เกษตรกรสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ง่าย
นอกจากนี้ยังใช้สถานที่ของ Oon IT Valley เป็นสถานที่ในการฝึกอบรมเกษตรกรในการฝึกหัดการใช้ อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร (UAV for Agriculture) เพื่อเป็นการสร้างความรู้เบื้องต้นให้เกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเทคโนยีดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องแรงงานที่จะต้องใช้ในการฉีดพ่นยา ลดภาวะเจ็บป่วยจากการพ่นสารเคมีที่เสี่ยงอันตราย ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานของเกษตรกร ช่วยประหยัดเรื่องสารเคมี ปุ๋ย ยา มีการอบรมไปแล้ว 1 รุ่น 30 รายและคาดว่าจะมีการขยายผลไม่น้อยกว่า 100 รายในปี2562