กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ครม.รับทราบแนวทางพัฒนาภาคเหนือตอนบน 1 ยกระดับแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมล้านนาสู่ระดับนานาชาติ เสนอ "เมืองเชียงใหม่" ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกในปี 2563 หนุนชุมชนที่มีศักยภาพจัดตลาดวัฒนธรรม-ถนนสายวัฒนธรรม พัฒนารุกขมรดกของแผ่นดินให้เป็นแหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน
วันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ห้องประชุมนารีอินทนนท์ ชั้น 5 อาคารบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2562 พื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูนและแม่ฮ่องสอน) ว่า ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการปฏิบัติราชการของ ครม. ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำเสนอต่อที่ประชุม ครม. โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้รายงานผลการปฏิบัติราชการการดำเนินงานพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่ 1.การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วย เมืองโบราณเวียงกุมกาม เวียงท่ากาน และต้นจามจุรียักษ์รุกขมรดกของแผ่นดิน จ.เชียงใหม่ อุทยานธรรมะและหอศิลป์อินสนธิ์ วงศ์สาม จ.ลำพูน ต้นขะจาวรุกขมรดกของแผ่นดิน พิพิธภัณฑ์เมืองลำปาง และวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จ.ลำปาง 2.การพัฒนาสินค้าและส่งเสริมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วย ตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม"กาดก้อม กองเตียว" ณ วัดศรีนวรัฐ จ.เชียงใหม่ และตลาดวัฒนธรรมในวัด(งานวัด) ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จ.ลำปาง และ3.การขับเคลื่อนการดำเนินงานแผนแม่บทคุณธรรมแห่งชาติ ณ ชุมชนคุณธรรมวัดช้างค้ำและชุมชนคุณธรรมบ้านทุ่งเสี้ยว จ.เชียงใหม่ และชุมชนคุณธรรมวัดบ้านไร่ศิลาทอง จ.ลำปาง
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1.ให้กรมศิลปากร(ศก.) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด(สวจ.) พัฒนาและเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของอารยธรรมล้านนา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่สู่ระดับนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้เมืองเชียงใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกในปี 2563 2.ให้กรมศิลปากรพิจารณาความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเมืองโบราณเวียงกุมกามตามความพร้อม และ3.ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมและสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดส่งเสริมชุมชนที่มีศักยภาพจัดตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม และพัฒนาพื้นที่บริเวณรุกขมรดกของแผ่นดินให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน