กรุงเทพฯ--15 ม.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (สกว.)
ภูเก็ตประกาศเป็นเมืองไมซ์และสมาร์ทซิตี้กระตุ้นการเติบโตของ GPP 5 เท่า รองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 2 เท่า ยกระดับภูเก็ตเป็นศูนย์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของโลก ด้านงานวิจัยแนะ ภูเก็ตต้องปรับผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อลดการกระจัดกระจายของเมือง ดันสู่เมืองแห่งการเดินในอนาคต
เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมานายกสมาคมการผังเมืองไทยเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดินและคณะอนุกรรมาธิการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาระบบราชการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดยนายมานุชญ์ วัฒนโกเมร รองประธานคนที่ 1 คณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน และนายจาดุร อภิชาติบุตร ประธานคณะกรรมการติดตามโครงการ TRP เพื่อการพัฒนาเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพร้อมด้วยผู้บริหารบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง และภาคส่วนต่างๆ เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตเป็นสมาร์ทซิตี้และยกระดับเป็นศูนย์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของโลก
โดยนายภัคพงศ์ ทวีพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็จ ได้กล่าวสรุปความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจำนวน 6 ด้านตามเกณฑ์สมาร์ทซิตี้ ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านโครงข่ายการขนส่งทางราง ด้านการขนส่งทางถนน ด้านการขนส่งทางทะเลและการขนส่งทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อการก่อสร้างสนับสนุนภูเก็ตให้เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ขณะที่นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย หัวหน้าโครงการศึกษากลไกการพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) ได้นำเสนอผลการศึกษาการคาดการณ์มูลค่าทรัพย์สินในอนาคต 20 ปีตามแบบจำลองทางผังเมือง เทียบเคียงกับร่างผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต สรุปว่า จังหวัดภูเก็ตได้รับนโยบายสำคัญจากรัฐบาลจำนวน 5 เรื่อง โดยมี 2 นโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องการให้จังหวัดภูเก็ตขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อเป็นแบบอย่างแก่จังหวัดอื่นได้แก่ นโยบายจังหวัดภูเก็ตเป็นไมซ์ซิตี้และนโยบายภูเก็ตสมาร์ซซิตี้ ทั้งนี้ คาดหวังให้ภูเก็ตสร้างสรรค์เศรษฐกิจด้วยการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์จังหวัดไม่น้อยกว่า 5 เท่าใน 20 ปีข้างหน้า สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 2 เท่าจากปัจจุบัน
อีกทั้งรัฐบาลยังอนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ ได้แก่ สร้างท่าอากาศยานแห่งที่ 2 บริเวณตำบลท่านุ่น อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 การสร้างรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ตเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานแห่งที่ 2 เข้ามายังพื้นที่ใจกลางเกาะและใจกลางแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล โดยการก่อสร้างระยะแรกท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 1 ถึงสถานีขนส่งจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 นอกจากนั้น ยังมีโครงการท่าเรือสำราญและท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง
นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ยังได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนแนวทาง smart mobility, smart safety และ smart economy ทั้งการติดตั้งระบบเก็บข้อมูลด้วยกล้องวงจรปิดในสถานที่สำคัญๆ ในการเดินทาง เช่น แหล่งท่องเที่ยว ท่าอากาศยาน ด่านตรวจ ท่าเรือ และพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจ ปัจจุบัน จังหวัดสามารถเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลบุคคลและยวดยานเพื่อการตรวจสอบได้เกือบจะสมบูรณ์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนี้ จะสนับสนุนการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องในอนาคต
สำหรับการศึกษาการคาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจตามแบบจำลองของ LEED-ND เทียบกับร่างผังเมืองรวมนั้น พบว่า เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสมกับราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ในอนาคต เป็นการชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจภายในพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจที่กำหนดเพื่อลดการกระจัดกระจายของเมือง (urban sprawl) และตอบสนองต่อนโยบายภูเก็ตไมช์และสมาร์ทซิตี้ของรัฐบาล ที่ปรึกษาร่างผังเมืองรวม ได้เสนอให้ปรับปรุงร่างผังการใช้ประโยชน์ที่ดินพร้อมข้อกำหนด โดยเพิ่มการใช้ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยประเภทหนาแน่นมาก เพิ่มประเภทกิจกรรมเศรษฐกิจ เช่น อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ อัตราส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน (FAR) ขนาดอาคาร และความสูงในพื้นที่หลายบริเวณ เช่น พื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งมีอยู่ 12 บริเวณในรัศมี 800-1,600 เมตรรอบสถานี พื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจเจ้าฟ้าและพื้นที่สองข้างทางถนนเจ้าตะวันตก นับจากสี่แยกห้างเทสโกโลตัสจนถึงวงเวียนห้าแยกฉลอง พื้นที่ทั่วบริเวณของเทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลตำบลกะรน เทศบาลตำบลกะตะ เทศบาลตำบลฉลอง และเทศบาลเมืองกะทู้ (ยกเว้นพื้นที่บริเวณเมืองเก่ากะทู้) และพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ
ซึ่งหากมีการปรับปรุงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินและข้อกำหนดให้สอดคล้องกับการสร้างความกระชับภายในศูนย์เศรษฐกิจแล้ว เอกชนจะสามารถลงทุนพัฒนาพาณิชยกรรมได้รับมูลค่าเพิ่มจากเดิมมากกว่า 5 เท่า ประชาชนจะอยู่อาศัยและมีถิ่นทำงานภายในศูนย์เศรษฐกิจ ช่วยลดความจำเป็นในการเดินทาง มีโอกาสในการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเดินในอนาคตได้ ที่สำคัญคือจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) ขยายตัวตามแผนที่รัฐบาลวางไว้