กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนปลูกชาอัสสัมคู่อนุรักษ์ป่า ลดทุนสร้างโรงเรือน ได้ผลผลิตสูง เตรียมดันสู่มาตรฐานชาอินทรีย์
การปลูกชาโบราณ หรือที่เรียกว่า "ชาอัสสัม" ตามโครงการความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ
การปลูกชาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการที่กรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 ในพื้นที่บ้านปางมะโอ ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และบ้านศรีนาป่าน-ตาแวน ต.เรือง อ.เมืองฯ จ.น่าน ในปี 2559 ได้ขยายผลไปยัง จ.เชียงราย เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรสามารถอยู่ดีกินดีได้ด้วยอาชีพการปลูกชาอย่างยั่งยืน และขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพต่อไป
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตร วางแผนจัดทำแปลงสาธิตการปลูกชาอัสสัมคุณภาพ ประกอบกับเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ปลูกชาตามโครงการฯ ทั้ง 3 จังหวัด (เชียงใหม่, น่าน, เชียงราย) เพื่อนำเกษตรกรศึกษาดูงานด้านการผลิตชา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น กลุ่มมีความเข้มแข็งและยั่งยืนในลักษณะการปลูกชาอัสสัมร่วมกับป่าเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการตามพระราชดำริ ซึ่งได้ประโยชน์ในอีกทางหนึ่งคือ ลดต้นทุนการสร้างโรงเรือน เนื่องจากชาอัสสัมเป็นไม้อายุยืนส่วนใหญ่เป็นไม้ชั้นล่างอยู่ภายใต้ป่ามีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ซึ่งให้ผลผลิตยอดชาได้ดีภายใต้แสงแดดพอประมาณ ต่างจากชาจีนที่ต้องการแดดมาก
กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมผลักดันกลุ่มเกษตรกรซึ่งปลูกชาอัสสัมในพื้นที่โครงการฯ สู่การเป็นกลุ่มผู้ผลิตชาอินทรีย์ โดยกำหนดนโยบายในการพัฒนาการปลูกชาอัสสัมตามโครงการฯ 4 ด้าน ได้แก่ การผลิต ที่มุ่งถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้อง เหมาะสม ทันสมัยให้แก่เกษตรกร ทั้งการปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยวและวางแผนการผลิต ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน โดยใช้แปลงของเกษตรกรสาธิตกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นจุดสาธิตเรียนรู้ให้เกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างคุ้มค่า การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ได้มาตรฐาน และมีความหลากหลายตรงตามความต้องการของตลาด การตลาด ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ ให้มีคุณภาพ เชื่อมโยงการตลาดของกลุ่มกับการท่องเที่ยวของจังหวัด และเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มด้วยกันเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และขยายตลาดของผลิตภัณฑ์ชาให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมในรูปสินค้าต่างๆ ผ่านสื่อ เพื่อให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม เร่งสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรแยกพื้นที่การปลูกชา และแยกเก็บยอดชา เนื่องจากต้นชาที่มีอายุมากจะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพรสชาติที่ดีกว่า เป็นการเพิ่มรายได้มากกว่าการจำหน่ายยอดชาที่เก็บรวมกัน กรมส่งเสริมการเกษตร จึงแนะนำให้เกษตรกรปลูกชาต้นใหม่แยกกับพื้นที่การปลูกเดิม เพื่อให้สามารถเก็บยอดชาจำหน่ายได้ตามคุณภาพและอายุของต้นชา ทั้งนี้ การปลูกชาอัสสัมสามารถทำได้ทั้งการเพาะเมล็ดและปักชำ โดยนำเอาเมล็ดพันธุ์จากต้นแก่ซึ่งมีสีเขียวแต่ภายในเมล็ดมีสีดำ มาแช่น้ำประมาณ 2 คืน แล้วเพาะในดิน เมื่อลำต้นแตกออกมีความสูง 1-2 ฟุต จึงสามารถนำไปปลูกบนที่ดอยได้ ส่วนการปักชำจะเลือกนำกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ ปลอดโรค ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไปชำลงในถุงบรรจุวัสดุเพาะชำขนาด 4x6 นิ้ว ต้นก็สามารถเจริญเติบโตได้ โดยปัจจุบันตลาดนิยมชาแบบชงดื่มและชาพร้อมดื่มเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้สนใจสามารถศึกษาเรียนรู้และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเชียงราย หรือศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา และเชียงราย