กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา พัฒนากรอบแนวคิด 8 หลักสูตรสู่ความเป็นเลิศมหาวิทยาลัยราชภัฏ เทียบเชิญที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ หวังดึงเยาวชนเข้าเรียนระดับปริญญาให้มากขึ้น
ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวระหว่างการสัมมนาจัดทำกรอบแนวคิดหลักสูตรสู่ความเป็นเลิศมหาวิทยาลัยราชภัฏตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า วัตถุประสงค์เพื่อรับฟังการนำเสนอกรอบแนวคิดหลักสูตรสู่ความเป็นเลิศมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ จำนวน 8 หลักสูตร (Cluster) ได้แก่ 1. โรงแรมและการท่องเที่ยว 2. ผู้ประกอบการ SMEs 3. ยกระดับการศึกษาครุศาสตร์ (ครูพรีเมียม ทุกหลักสูตร) 4. Food Industry and Technology 5. Smart Farming ด้านประมง (ประมง 3 น้ำ) 6. สุขภาพ 7. การพัฒนาองค์กรท้องถิ่นและพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม 8. การจัดทำหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) ศิลปะและวัฒนธรรม (พื้นบ้าน) และผลักดันกรอบแนวคิดหลักสูตรสู่ความเป็นเลิศให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การเสนอขออนุมัติให้ดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี
ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนาประเทศสู่ยุค Thailand 4.0 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชน สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20ปีที่เน้นการพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีแผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี ( พ.ศ. 2560-2579 ) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกและของประเทศ รวมทั้งชี้นำทิศทางกำหนดกลไกและวิธีการในการจัดสรรทรัพยากร การจัดการศึกษา การวิจัยและพัฒนา และการกำกับติดตามประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะนำไปสู่การปรับบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาให้สามารถผลักดันประเทศสู่ Thailand 4.0 ได้
"มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งใน Model ที่จะทำหลักสูตรสากล โดยต้องคิดนอกกรอบเพื่อดึงเยาวชนที่มีจำนวนน้อยลงหรือไม่เห็นถึงความสำคัญของการอุดมศึกษาให้กลับมาเรียนในระดับปริญญาให้มากขึ้น และเมื่อเรียนจบแล้วต้องสามารถทำงานได้จริง มีหน่วยงานรองรับ เพราะสมัยนี้นอกจากผู้เรียนจะน้อยลงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังไม่เห็นความสำคัญว่าจะเรียนไปทำไม เรียนไปก็ทำงานไม่ได้ ในขณะที่นายจ้างคนก็บอกว่าปริญญาไม่มีความหมาย" ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า การจัดทำแผนของสถาบันอุดมศึกษาตามนโยบายอุดมศึกษาสู่การปฏิบัติมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาเป็นศูนย์รวมความรู้และศาสตร์ที่นำไปสร้างทุนความรู้ทางสังคม ก่อให้เกิดนวัตกรรม ความรู้ งานวิจัย ที่เสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศในบริบทที่เปลี่ยนแปลง และเป็นผู้สร้างปัญญาให้กับสังคมให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้และนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลต่อการเรียนและการพัฒนาทางด้านวิชาการ จึงได้ดำเนินตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการด้วยการแปลงนโยบายด้านอุดมศึกษาสู่การปฏิบัติ โดยรับดำเนินการเป็น Model หนึ่งในมหาวิทยาลัยนำร่องของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏจาก 38 แห่ง ที่จะนำนโยบายฯ ไปสู่การปฏิบัติ โดยดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำกรอบแนวคิดหลักสูตรความเป็นเลิศมหาวิทยาลัยราชภัฏตามนโยบายและยุทธศาสตร์ (Dream Team) ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายฯ มีหน้าที่คิดนอกกรอบอย่างไม่มีลิมิทในการออกแบบหลักสูตร
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มรภ.สงขลา ได้ดำเนินการจัดทำกรอบแนวคิดหลักสูตรสู่ความเป็นเลิศฯ 8 Cluster เพื่อให้มหาวิทยาลัยบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จึงได้จัดโครงการสัมมนาเรื่องการจัดทำกรอบแนวคิดหลักสูตรสู่ความเป็นเลิศมหาวิทยาลัยราชภัฏตามนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในฐานะของผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำข้อเสนอแนะไปรับปรุงกรอบแนวคิดให้ดียิ่งขึ้น
"เราคงรับทราบความจริงแล้วว่า dynasty technology เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคน ท้ายสุดคือเปลี่ยนแปลงอาชีพ การทำงานในตลาดแรงงาน มรภ.สงขลา เติบโตมาอย่างยาวนานและยิ่งใหญ่ แต่ขณะนี้ถ้าไม่ปรับตัวความยิ่งใหญ่ของเราจะลดน้อยและหายลงไป ซึ่งถือเป็นโชคดีมากๆ ที่ได้รับเกียรติจากท่านที่ปรึกษาฯ และเราได้ทำการบ้านมาให้ท่าน ขอชื่นชมและขอให้ทุกคนช่วยกันเปลี่ยนให้ได้โดยเร็วที่สุด เราเคยคุยกันว่าการศึกษายุค 4.0ต้องมีนวัตกรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งอุดมศึกษาปฏิเสธไม่ได้ เพราะการรับผิดชอบต่อสังคมมีความจำเป็นและสำคัญ อีกอย่างคือ ต้องทำคุณภาพตามพันธกิจด้วยหลักของธรรมาภิบาล ถ้าเรามีคุณภาพเราจะอยู่ได้ และคุณภาพนั้นต้องสอดคล้องกับความต้องการของสังคม" อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าว