กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ฝ่ายโปรแกรมบริหารผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร จับมือร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานสัมมนา "การยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของเครื่องสำอางและเสริมอาหาร" (Quality, Safety and Efficacy for Cosmetics and Food Supplements, QSE) ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562 เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ ห้องสกายบอลรูม ชั้น 6 โรงแรมคอมพาสสกายวิว สุขุมวิท 24 กรุงเทพฯ ร่วมฟังสัมมนา จากกูรูทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่มีมุมมองประสบการณ์ด้านการทดสอบ QSE เครื่องสำอาง นำโดย ภญ.ดร.นีรนารถ จิณะไชย บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด, รศ.ดร.ภก.เนติ วระนุช ผู้อำนวยการสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมหาวิทยาลัยนเรศวร, คุณชัชวาร พงษ์บริบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด และ คุณอมร ประดับทอง ผู้จัดการโครงการอาวุโส ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ร่วมสัมมนาให้ความรู้การทดสอบก่อนคลินิกและระดับคลินิก พร้อมรับ QR CODE สมัครเข้าร่วมโครงการได้ภายในงาน
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าใจ และเข้าถึงการทดสอบมาตรฐานสากลของผลิตภัณฑ์นับเป็นสิ่งสำคัญ ทีเซลส์ (TCELS) ในฐานะผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากองค์ความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ จึงได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นหน่วยวิจัยและทดสอบ ได้แก่ สถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, สถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร และศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดให้มีโครงการการยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของเครื่องสำอางและเสริมอาหาร หรือ QSE ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวข้องตามระบบการทดสอบความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งในระดับก่อนคลินิกและระดับคลินิก ตามหลักเกณฑ์ และมาตรฐานสากล พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการเข้ามารับการทดสอบฯ และสามารถยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านชีววิทยาศาสตร์ให้ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล และสามารถขยายโอกาสทางการตลาดสู่อาเซียน หรือ สากล โดยมุ่งหวังให้ SMEs มีความรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับการทดสอบ และเข้าถึงการทดสอบผ่านมาตรการ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่าย 70% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ผลสำเร็จของโครงการ นอกจากจะสามารถยกระดับศักยภาพการแข่งขันของวิสาหกิจแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลได้อีกด้วย"
ภญ.ดร.นีรนารถ จิณะไชย บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า "เครื่องสำอางในประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจในอาเซียน และในระดับโลก บางผลิตภัณฑ์มีศักยภาพการแข่งขันโดยสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าประเทศอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม และกลุ่มผลิตภัณฑ์ในช่องปาก ในขณะเดียวกันประเทศไทยได้สูญเสียศักยภาพการแข่งขันในบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มสำคัญในด้านเครื่องสำอางนั่นคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ดูแลและตกแต่งผิว ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ได้มีการศึกษาเชิงลึกถึงปัจจัยที่มีผลต่อศักยภาพการแข่งขัน พบว่าปัจจัยหลักที่มีผลต่อการแข่งขันด้านเครื่องสำอางในประเทศไทยคือ ปัจจัยการผลิต และปัจจัยจากภาครัฐ จุดแข็งของประเทศไทยคือ เครื่องสำอางไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้าน โอกาสของประเทศไทยคือ การที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสมุนไพรและธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ในธุรกิจเครื่องสำอางได้ และยังมีธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจด้านเครื่องสำอางที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก ได้แก่ ธุรกิจด้านบริการและด้านการแพทย์ ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาศักยภาพการแข่งขันโดยสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์บางประเภท และพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ จึงต้องอาศัยความร่วมมืออย่างดีจากทางภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของเครื่องสำอาง ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเครื่องสำอางในประเทศไทยสู่ตลาดโลก"
รศ.ดร.ภก.เนติ วระนุช ผู้อำนวยการสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า "ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากมายที่วางจำหน่ายในท้องตลาด รวมถึงมีการโฆษณาประสิทธิภาพด้านต่างๆ ของผลิตภัณฑ์จนอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อและบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง"
"ทั้งนี้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ในด้านต่างๆ ทั้งการทดสอบถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด และถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศทางชีววิทยาศาสตร์ และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อทำการทดสอบด้านต่างๆ อันจะนำไปสู่การสนับสนุนข้อมูลในการโฆษณากล่าวอ้างประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการต่อไป"
"สถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรที่มีการบริการวิชาการด้านการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติอื่นๆ ทั้งที่เป็นอาหารและยา ทั้งในห้องปฏิบัติการและการทดสอบทางคลินิก โดยเฉพาะการทดสอบทางคลินิก สถานวิจัยฯ มีการพัฒนาเพื่อให้เป็นศูนย์ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากล (ICH GCP) มีความพร้อมทั้งด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักสถิติ สถานที่ทำการทดสอบ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่างๆ ตลอดจน มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ผู้ประกอบการที่สนใจทำการทดสอบควรเตรียมความพร้อมเบื้องต้นทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ทดสอบ ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลทั่วไปของผลิตภัณฑ์ทดสอบ รูปภาพ ส่วนประกอบ เอกสารการจดแจ้งกับอย. ทั้งนี้สามารถปรึกษา หรือ สอบถามข้อมูลได้ที่สถานวิจัยฯ โทรศัพท์ 055 968 801 อีเมล์ cosnat@nu.ac.th หรือ เว็บไซต์ cosnat.pha.nu.ac.th" รศ.ดร.ภก.เนติ กล่าวปิดท้าย