กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--ซีพี ออลล์
"วันเวลาคือเข็มนาฬิกา มีหน้าที่หมุนไปอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าหยุดยั้ง เราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ชีวิตเราทำอย่างไรที่จะให้เป็นประโยชน์ จะต้องมีตัวธรรมะคอยกระตุ้นเตือน สิ่งกระตุ้นเตือน ในภาษาทางศาสนาก็คือตัวสติ"
เป็นข้อคิดดีๆจากพระเทพสิทธิมุนี เจ้าอาวาสวัดดุสิตาราม กรุงเทพฯ ซึ่งกล่าวตอนหนึ่งในเวทีบรรยายธรรมเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ หัวข้อ"ธรรมดีปีใหม่" จัดโดย บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย
พระเทพสิทธิมุนีอธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวสตินั้นเป็นเครื่องมืออันดีที่สุดในการกระตุ้นเตือน เดี๋ยวนี้ใช้เครื่องมือต่างๆ เทคโนโลยีต่างๆ เป็นตัวกระตุ้นเตือนได้หลายอย่างทีเดียว แต่ธรรมะคือตัวสติ
สติจะทำให้ผู้นั้นมีความกระฉับกระเฉงฉับไว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบ ธรรมะคือตัวสติว่าเป็นธรรมที่ให้ผลอย่างใหญ่หลวง ท่านเรียกศัพท์อีกศัพท์หนึ่งว่าอัปปมาทธรรม เป็นธรรมอันสุดยอด
อัปปมาทธรรมกับสติเป็นอันเดียวกัน เป็นศัพท์ที่ใช้แทนกันได้ด้วย ท่านยกตัวอย่างเหมือนกับสัตว์ที่สัญจรอยู่บนผืนแผ่นดิน ไม่มีสัตว์อื่นใดชนะช้าง ที่ดินคือใจของแต่ละคน ซึ่งเรียกว่าภูมิ ภูมิคือผืนแผ่นดิน เราปรับพื้นที่คือตัวภูมิให้มารองรับธรรมะหรืออัปปมาทธรรมหรือสติได้ไหม ถ้ารองรับช้างได้ สัตว์อื่นก็มาอยู่ได้ แสดงว่าจิตใจผู้ที่มีธรรมะคือสติที่จะต้องหนักและก็แน่นด้วย จะลอยไม่ได้ ผู้ที่มีใจลอยเท่ากับผู้นั้นขาดสติ
ฉะนั้นตัวสติทำให้ไม่ลอย เรียกว่าให้มีน้ำหนัก มีตัวหนักนั่นเอง ทั้งหนักทั้งแน่น เป็นหลักสำคัญ และเป็นตัวสกัดกั้นกระแสโลกต่างๆ ที่มีมากมายทั้งตัวค่านิยมต่างๆ อย่างเช่นความฟุ่มเฟือย และค่านิยมแบบทางโลกที่ก่อให้เกิดความอยากได้ สติจะเป็นตัวปิดกั้น
ในหลักการปฏิบัติ บางคนอาจจะเคยปฏิบัติได้บ้าง ใช้ธรรมะคือตัวสติ ไม่ใช่ต้องปฏิบัติเข้มข้น ถึงกับว่าได้วิปัสสนาญาณขั้นสูงๆ เพียงใช้สติเป็นตัวปิดกั้น ซึ่งถ้ามีสติเมื่อเจออะไรเข้ามากระทบ ต้องดูจิต ยกตัวอย่าง ในช่วงเทศกาลก่อนปีใหม่ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ลดราคาของเยอะจริงๆ ทำให้เกิดความอยากได้อยากซื้อ ฉะนั้นต้องดูจิต แสดงว่าจิตอยากได้ จึงต้องดักที่ตัวเราเอง
อย่างนี้เรียกว่าเจริญสติ ต้องดูตัวจิตที่อยากซื้อ ในหลักการปฏิบัติใช้คำว่า ใช้ใจดูใจ ใช้จิตที่มีสตินั่นแหล่ะคอยดู แสดงว่าต้องหมั่นเช็ดแว่นหน่อย แว่นคือตัวสติ ถ้าไม่เช็ดจะไม่ค่อยเห็นชัด ซึ่งถ้าแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองไม่กระทบกระเทือนอะไรเลยจากสิ่งที่สัมผัสแล้ว เพราะผู้นั้นมีตัวธรรมะ มีของดี แขวนของดีไว้ แขวนของขลังไว้ที่ใจ ยิ่งได้ผล หมั่นอบรมบ่มธรรมประจำตน เป็นมงคลวิเศษพ้นเพศภัยด้วย
นอกจากนี้ชีวิตคนเรายังผูกพันด้วยตัวกรรม กรรมคือการกระทำ ซึ่งการกระทำนั้นๆมีสติหรือขาดสติ ภาษาทางศาสนาเรียกว่าเจตนา อย่างเช่นเวลาทำสิ่งไม่ดีทำด้วยอารมณ์ ตัวอารมณ์นั่นแหล่ะเรียกว่าเจตนา
ในบางครั้งการทำความดี ผลของความดีจะไม่ค่อยได้ผลเร็วเท่าไหร่ เพราะอะไร เวลาทำดีไม่เต็ม 100 พูดง่ายๆ ไม่ได้ทุ่ม คำว่าทุ่มในที่นี้ไม่ได้ทุ่มทรัพย์ ต้องทุ่มกำลังใจ ต้องทำด้วยจิตใจ จิตใจเต็ม 100 ถึงจะได้ผลเต็ม 100 แต่เวลาทำชั่วนั้น ธรรมชาติเป็นอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นจึงให้ผลเร็วกว่า ในหลักของศาสนาเกี่ยวข้องด้วยกรรม ซึ่งเรียกว่า กฏแห่งกรรม
ในส่วนกรรมที่ทำไป บางคนศึกษาธรรมะยังไม่เข้าถึง สมมติทำเสร็จแล้ว ทำความดีอะไรก็ตาม แต่ผู้นั้นปรารถนาผลสำเร็จหรือว่าผลสัมฤิทธิ์ และหวังผลจะได้ทันที ซึ่งไม่มีทางได้ตามนั้น กรรมที่ทำถ้าหวังผลเกินไปยังไม่ถึง ต้องไปตามลำดับ ต้องนึกถึงตัวหลักความจริง ใครมีธรรมะย่อมยอมรับในตัวความจริง