กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้ารับลูกต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการเข้าร่วมสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty: PCT) ภายใต้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO ปกป้องการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมไทยในเวทีโลก
นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าหลังจากที่เดินสายหารือรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะในการเข้าเป็นภาคี PCT มาข้ามปี “เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้การเห็นชอบให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาปารีสอย่างเป็นเอกฉันท์และให้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา PCT ในสัดส่วน 121 เสียง ต่อ 2 เสียง ขั้นตอนต่อไปกระทรวงการต่างประเทศ จะดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) หากไม่มีสมาชิกอนุสัญญาปารีสและสนธิสัญญา PCT ใดคัดค้าน การเข้าเป็นสมาชิกจะมีผลภายใน 90 วัน”
PCT เป็นความตกลงที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศ ในปัจจุบัน PCT มีสมาชิกทั้งหมด 138 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน เกาหลี มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น
หลักการสำคัญของการคุ้มครองสิทธิบัตร คือ จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะในประเทศที่จดทะเบียนเท่านั้น ดังนั้น ในปัจจุบันนักประดิษฐ์ นักวิจัย และผู้ประกอบธุรกิจของไทยที่ต้องการได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรในต่างประเทศจะต้องยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศที่มีโอกาสทางการค้าหรือมีความเป็นไปได้ที่จะถูกลอกเลียน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าเดินทาง ค่าแต่งตั้งตัวแทน ค่าจ้างเขียนคำขอจดแบบและข้อถือสิทธิ ขณะที่ยังไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับสิทธิบัตรหรือไม่ จึงมีผลให้ไม่ค่อยมีการจดสิทธิบัตรไทยในต่างประเทศมากนัก สิทธิบัตรไทยจึงถูกต่างชาตินำไปใช้หาประโยชน์โดยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิในประเทศ ตัวอย่างเช่น กรณีกวาวเครือ และเปล้าน้อยที่นักประดิษฐ์ไทยไม่สามารถไปจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและมีขบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยาก จึงได้ขายสิทธิให้คนต่างชาติไปจดทะเบียนและเป็นเจ้าของแทน
เมื่อไทยเข้าเป็นภาคี PCT โดยสมบูรณ์แล้ว ต่อไปนักประดิษฐ์ไทยที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศ จะมีเวลา 12 เดือน นับจากวันที่ยื่นในประเทศตัดสินใจว่าจะจดทะเบียนขอรับการคุ้มครองในต่างประเทศหรือไม่ หากเห็นว่าจะมีโอกาสทำเงินในต่างประเทศหรือมีโอกาสที่จะถูกบางประเทศลอกเลียนแบบ ก็ควรจองสิทธิการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศผ่านระบบ PCT ไว้ก่อน โดยยื่นแบบฟอร์มพร้อมแจ้งความประสงค์ขอรับการคุ้มครองในประเทศที่ต้องการ โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกจะดำเนินการตรวจสอบในเบื้องต้นว่าสิ่งประดิษฐ์นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับสิทธิบัตรหรือไม่ นอกจากนี้ ระบบ PCT ยังให้เวลาผู้ยื่นคำขออีก 18 เดือนในการศึกษาโอกาสทางการตลาดและความคุ้มค่าในการจดทะเบียนสิทธิบัตรในต่างประเทศ ก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะจดทะเบียนขอรับการคุ้มครองที่ประเทศใด เนื่องจากการจดสิทธิบัตรยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสิทธิจนครบอายุ 20 ปี นับตั้งแต่การยื่นครั้งแรกด้วย
โดยสรุประบบ PCT จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักประดิษฐ์ไทยจดสิทธิบัตรในต่างประเทศได้สะดวก ลดค่าใช้จ่าย มีเวลาในการตัดสินใจมากขึ้น และสามารถวางแผนการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรในเชิงพาณิชย์ อาทิ การอนุญาตให้ บริษัทต่างประเทศขอใช้สิทธิ ซึ่งจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพื่อการลงทุนในการพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไป ดังนั้น ระบบ PCT จึงสามารถลดความยุ่งยากของการขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศได้อย่างมาก ทั้งยังลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้ถึงร้อยละ 70 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเสริม
ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศยื่นการขอเข้าเป็นสมาชิก PCT ต่อ WIPO แล้ว WIPO จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาวางระบบและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รับคำขอ รวมทั้ง จัดสัมมนาอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่นักประดิษฐ์หรือเจ้าของสิทธิบัตรได้มีความรู้ความเข้าใจในการยื่นคำขอสิทธิบัตรในต่างประเทศผ่านระบบ PCT ซึ่งขณะนี้มีการประดิษฐ์ที่รอจะจดสิทธิบัตรในต่างประเทศโดยผ่านระบบนี้จากหน่วยงานของราชการ เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ สมาคมนักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการ เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-547-4675 หรือ 02-547-4653 หรือ www.ipthailand.org