กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะเจ้าของอาคารสูงควรปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารให้อยู่ในสภาพปลอดภัยต่อการเกิดอัคคีภัย โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด จัดให้มีระบบเตือนภัย ระบบตรวจจับควันไฟ และจัดระเบียบบันไดหนีไฟให้สามารถใช้งาน ได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนผู้อยู่อาศัยในอาคารสูง ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้ และศึกษาเรียนรู้การป้องกัน การระงับอัคคีภัยในอาคารสูง และการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยหากเกิดเพลิงไหม้ เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ช่วงนี้สภาพอากาศแห้ง ลมพัดแรง หากเกิดเพลิงไหม้จะยากต่อการควบคุมเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดเพลิงไหม้อาคารสูง ซึ่งมีคนอยู่อาศัยจำนวนมากจะยิ่งสร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคารสูง ผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร และผู้อาศัยในอาคารสูงควรร่วมกันป้องกันอัคคีภัย โดยเจ้าของอาคารควรสร้างและปรับปรุงสภาพอาคารให้ถูกต้องและปลอดภัยตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยปรับปรุงอาคารให้มีพื้นที่หนีไฟ ติดตั้งระบบเตือนภัยภายในอาคารทั้งระบบตรวจจับควันไฟ สัญญาณกระจายเสียงภายในอาคาร ระบบดับเพลิงภายในอาคาร เช่น ระบบสเปรย์ ระบบสปริงเกอร์ พร้อมมีอุปกรณ์และเครื่องหมาย โดยเฉพาะป้ายแสดงทิศทางหนีไฟไว้ให้ชัดเจนและอยู่ในระดับสายตา จัดระเบียบบริเวณบันไดหนีไฟและทางเดินระเบียงรอบอาคารไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง ซึ่งประตูหนีไฟควรเปิดใช้งานได้สะดวกทั้ง 2 ทาง และห้ามล๊อคประตูหนีไฟอย่างเด็ดขาด เพื่อสะดวกต่อการหนีไฟ ทั้งนี้ควรจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนป้องกันอัคคีภัยขึ้นภายในอาคารอย่างเต็มรูปแบบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ได้เรียนรู้วิธีการอพยพหนีไฟ และการระงับอัคคีภัย หมั่นตรวจถังดับเพลิงเคมีให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดี สำหรับผู้ที่อาศัยในอาคารสูง ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุเพลิงไหม้ เช่น การเสียบปลั๊กหลายอันไว้ในเต้าเสียบเดียวกัน ควรศึกษาเรียนรู้วิธีการป้องกันและการปฏิบัติตนให้ถูกต้องปลอดภัยจากอัคคีภัย ศึกษาเส้นทางหนีไฟและวิธีการใช้ถังดับเพลิงเคมี หมั่นตรวจตราอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หากชำรุดควรแจ้งช่างผู้ชำนาญมาดำเนินการปรับปรุงและแก้ไข ควรปิดสวิทช์และถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังจากใช้งานเสร็จแล้ว เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งควรจัดสิ่งของภายในบ้าน ให้เป็นระเบียบโดยเก็บสิ่งของที่เป็นวัตถุไวไฟให้มิดชิด เป็นสัดส่วน ตลอดจนร่วมกันระแวดระวัง หากพบเห็นสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ให้รีบแจ้งเจ้าของอาคารดำเนินการปรับปรุงแก้ไขทันที อีกทั้งควรสอดส่องดูแลบันไดหนีไฟและประตูหนีไฟ ให้สามารถเปิดใช้งานได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
นายอนุชาฯ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น หากเป็นบุคคลแรกที่พบเหตุเพลิงไหม้ให้ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนกตกใจ รีบกดสัญญาณเตือนภัย และแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงให้ทราบโดยทันที หากไม่สามารถดับเพลิงได้ด้วยตนเองได้ให้รีบหนีออกจากอาคารที่เกิดเหตุทันที โดยควรหนีออกด้านล่างของอาคารผ่านทางบันไดหนีไฟ และหากเส้นทางหลบหนีมีควันไฟปกคลุมให้นำผ้าชุบน้ำมาปิดจมูกไว้ และหมอบคลานต่ำ เพื่อป้องกันการสำลักควันในขณะหลบหนี