กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาคเช่นกัน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วย นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ หนองบัวลำภู และสกลนคร เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.2 และ 1.6 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.1 และ 11.5 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัด ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และขอนแก่น เป็นต้น นอกจากนี้มีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ 520 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 105.7 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 16.0 และ 34.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 90.8 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายนเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 และ 10.8 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในจังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย และเชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่มูลค่า 1,019 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 645.4 ต่อปี ตามการลงทุนในจังหวัดลำพูนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดกำแพงเพชร น่าน และแพร่ เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนชะลอลงจากเดือนก่อน สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.1 และ 8.0 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคเหนือในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 79.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเซรามิกส์ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.6 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี และเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่มูลค่า 562 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทานภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 97.3 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมแก้วและพลาสติก และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.3 และ 7.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 24.1 ต่อปี จากขยายตัวในจังหวัดชลบุรี ระยอง และนครนายก เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรชะลอลงจากเดือนก่อน แต่มีเม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 2,564 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 254.9 ต่อปี จากการลงทุนโรงงานการผลิตเครื่องประดับจากอัญมณีในจังหวัดจันทบุรีเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนตุลาคม ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 110.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 17.0 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรสาคร นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 2,631 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการ และปทุมธานี ในโรงงานผลิตและชิ้นส่วนยานยนต์ และโรงงานผลิตเสาเข็มคอนกรีต เป็นต้น สอดคล้องการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ในขณะที่บริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนชะลอลงจากเดือนก่อน สำหรับด้านอุปทานภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 97.3 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมแก้วและพลาสติก เป็นต้น ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัว ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.3 ต่อปี จากขยายตัวในจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 769.2 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 52.6 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.6 และ 6.4 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นของผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนในเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.0 โดยเฉพาะจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี สอดคล้องกับรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 71,416 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี โดยเป็นการขยายทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับด้านอุปสงค์ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อน แต่ยังมีเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ 2,084.6 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 697.7 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค