กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--มรภ.สงขลา
"ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์" ที่ปรึกษา รมช.ศธ. เยือน มรภ.สงขลา แนะคิดนอกกรอบ พร้อมเสนอ 4 เกณฑ์ยกระดับคุณภาพการศึกษา ปั้นหลักสูตรอิงสมรรถนะ หวังบัณฑิตทำงานได้จริง มีมาตรฐานสากล พร้อมเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ
ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวระหว่างเข้าร่วมสัมมนาจัดทำกรอบแนวคิดหลักสูตรสู่ความเป็นเลิศมหาวิทยาลัยราชภัฏตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตนเข้ามาช่วยมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง ในการลงลึกให้อาจารย์มารวมตัวกันทำงานแบบ Cluster ที่เป็นแบบสากลจริงๆ แล้วก็มาคิดหลักสูตรแบบนอกกรอบเพื่อจะยกระดับคุณภาพการศึกษา และดึงเยาวชนที่ไม่เห็นความสำคัญของการอุดมศึกษาหรือไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาให้กลับมาใหม่ เพราะวัตถุประสงค์การศึกษามี 3 อย่าง คือ 1. มีงานทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ หรือใกล้สิ่งที่ตัวเองอยากจะทำมากที่สุด
สิ่งที่ต้องมาช่วยดูเรื่องนี้ Demand Driven คือ กฎเหล็กข้อที่ 1 ของหลักสูตรระดับสากล ที่ต้องจัดการศึกษาตามความต้องการของผู้จ้าง ผู้เรียน ผู้ที่ออกเงิน 2. เป็นคนดีของสังคม โดยสอดแทรกการสร้างและปูพื้นฐานความเป็นคนดี 3. ให้เด็กที่จบไปแล้วสามารถเผชิญหน้ากับสังคมและโลกอนาคตได้ จบแล้วต้องไม่โดนหลอกทำให้ท้อง ติดโรค ถูกหลอกให้กด ATM จนหมดตัว สิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจของสถานศึกษา มหาวิทยาลัยมีจุดยืนอยู่ตรงกลาง ต้องสร้างคนให้ผู้จ้าง โดยต้องมีทักษะ มีสมรรถนะที่ต้องการ และเด็กเองก็ไม่ต้องการเรียนนาน นายจ้างก็ไม่ต้องรอนาน จบเร็วยิ่งดี ดังนั้น ตนเองที่มาช่วยในวันนี้จึงเสนอแนะเกณฑ์ 4 ข้อ คือ ข้อที่ 1 Demand driven ซึ่งจบไปแล้วทำงานได้ มหาวิทยาลัยมีโจทย์ว่า ด้วยเงินทุนในการจัดการศึกษาเท่านี้จะทำให้ผู้เรียนมีสมรรถนะในการทำงาน แล้วใช้เวลาให้น้อยที่สุด รีบจบ รีบไปทำงาน รีบไปทำประโยชน์ให้แก่สังคม ไปสร้างบ้านใหม่ให้แม่ ให้พ่อ นี่คือปรัชญาทางการศึกษาที่ติดดิน แล้วไม่ได้ผ่อนปรนเรื่องคุณภาพ
ข้อที่ 2 คือ ต้องมีมาตรฐานสากล มาตรฐานระดับประเทศ เป็น The Driven ต้องทำให้ได้รับ Certificate ระดับสากล เช่นBTEC ผ่านมาตรฐานภาษาอังกฤษ เป็น โดยไม่ต้องเอาปริญญามาแสดง ก็สามารถทำงานกับนายจ้างได้ทันที ข้อที่ 3 คือเป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะ ไม่ว่าจะเรียน 4 ปีหรือ 2 เดือน เด็กจะได้สมรรถนะอะไรเมื่อจบไป ถ้า Cluster ที่คิดมายังตอบไม่ได้ แสดงว่าที่คิดหลักสูตรมายังไม่ได้คิดให้อิงสมรรถนะ เพราะคนจ้างจะถามว่า เธอทำอะไรเป็น แล้วนักศึกษาจะยกมือถามต่อว่า หนูมาเรียนวิชานี้แล้วหนูจะทำอะไรเป็น หนูมีสมรรถนะอะไร ข้อที่ 4 เราจะโยงเข้าถึงการทำงานและตลาดของแรงงาน หรือตัว Demand จึงอยากให้มหาวิทยาลัยเชื่อมโยงกับสถานประกอบการ ผู้ว่าจ้าง ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ด้วยประโยชน์ 2 อย่าง คือ ข้อ 1 ลูกศิษย์เราจะมีโอกาสเรียนรู้ ฝึกงาน เรียนรู้ร่วมกับผู้ที่ใช้ เช่น คนที่มาช่วยสอนมาจากภาคการผลิต ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้น และ ข้อ 2 เชื่อมโยงส่งต่อท่อเข้าที่ทำงาน คือ จบแล้วรับเข้าทำงานหมด เพราะเค้ามาช่วยสอนแล้วเห็นฝีมือของลูกศิษย์เรา
มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งใน Model ที่จะทำหลักสูตรสากล โดยต้องคิดนอกกรอบเพื่อดึงเยาวชนที่มีจำนวนน้อยลงหรือไม่เห็นถึงความสำคัญของการอุดมศึกษาให้กลับมาเรียนในระดับปริญญาให้มากขึ้น และเมื่อเรียนจบแล้วต้องสามารถทำงานได้จริง มีหน่วยงานรองรับ เพราะสมัยนี้นอกจากผู้เรียนจะน้อยลงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังไม่เห็นความสำคัญว่าจะเรียนไปทำไม เรียนไปก็ทำงานไม่ได้ ในขณะที่นายจ้างเองก็บอกว่าปริญญาไม่มีความหมาย ถ้าไม่มีสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการ
ด้าน ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า มรภ.สงขลา ได้จัดทำกรอบแนวคิดหลักสูตรสู่ความเป็นเลิศฯ จำนวน 8 Cluster ได้แก่ 1. โรงแรมและการท่องเที่ยว 2. ผู้ประกอบการ SMEs 3. ยกระดับการศึกษาครุศาสตร์ (ครูพรีเมี่ยม ทุกหลักสูตร) 4. Food Industry and Technology 5. Smart Farming ด้านประมง (ประมง 3 น้ำ) 6. สุขภาพ 7. การพัฒนาองค์กรท้องถิ่นและพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม 8. การจัดทำหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) ศิลปะและวัฒนธรรม (พื้นบ้าน) จึงได้เชิญ ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนแนวคิดที่เป็นประโยชน์แก่มหาวิทยาลัย เพื่อผลักดันกรอบแนวคิดทั้ง 8 หลักสูตรไปสู่ความเป็นเลิศให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวอีกว่า มรภ.สงขลา เติบโตมาอย่างยาวนานและยิ่งใหญ่ และครบ 100 ปี ในปี พ.ศ.2562 แต่ขณะนี้ถ้าไม่ปรับตัวความยิ่งใหญ่ของเราจะลดน้อยและหายลงไป ซึ่งถือเป็นโชคดีอย่างมากที่ได้รับเกียรติจากท่านที่ปรึกษาฯ และเราได้ทำการบ้านมาให้ท่าน ขอชื่นชมและขอให้ทุกคนช่วยกันเปลี่ยนให้ได้โดยเร็วที่สุด เราเคยคุยกันว่าการศึกษายุค 4.0 ต้องมีนวัตกรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งอุดมศึกษาปฏิเสธไม่ได้ เพราะการรับผิดชอบต่อสังคมมีความจำเป็นและสำคัญ อีกอย่างคือ ต้องทำคุณภาพตามพันธกิจด้วยหลักของธรรมาภิบาล ถ้าเรามีคุณภาพเราจะอยู่ได้ และคุณภาพนั้นต้องสอดคล้องกับความต้องการของสังคม