กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ด้านห้องปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาสมรรถนะของประเทศเพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และตอบโต้โรคระบาดร้ายแรงซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของมวลมนุษยชาติ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทรให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda)ที่ประเทศไทยเป็นผู้นำในชุดกิจกรรม 2 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการสาธารณสุข (Detect 1: National Laboratory System) และการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข (Detect 5: Workforce Development)
โดยรับผิดชอบร่วมกับประเทศเจ้าภาพอื่นๆ ในการเร่งให้ประเทศต่างๆ พัฒนาสมรรถนะของประเทศเพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และตอบโต้โรคระบาด (Prevent, Detect, Respond) ภายในระยะเวลา 5 ปี และได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพชุดกิจกรรมการพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการสาธารณสุข (Detect 1: National Laboratory System) รวมถึงประสานงานกับชุดกิจกรรมอื่น และหน่วยงานอื่นๆ ตามความจำเป็น เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบชุดกิจกรรมการพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการสาธารณสุข ได้จัดกิจกรรมในระดับภูมิภาคปีละ 1 ครั้ง มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อสนับสนุนวาระความมั่นคงสุขภาพโลกในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือขึ้นระหว่างประเทศผู้นำ ประเทศสนับสนุน และหุ้นส่วนพัฒนา สำหรับปี 2562 ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับชุดกิจกรรมครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม 2562 ในหัวเรื่อง "GHSA 2024: Advancing Collaborative Efforts Across Relevant GHSA Action Packages" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบความเคลื่อนไหวการดำเนินการตามกรอบวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ซึ่งกำหนดจะดำเนินการจนถึงปี 2567 ติดตามความก้าวหน้าตามแผนกลยุทธ์พัฒนาระบบห้องปฏิบัติการสาธารณสุข ติดตามผลดำเนินการการพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการสาธารณสุข และการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข เป็นเวทีให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุดกิจกรรมต่างๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายระหว่างประเทศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) ผ่านทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ผู้เข้าร่วมประชุมมาจากประเทศผู้นำชุดกิจกรรม D1 (สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ อูกันดา และประเทศไทย) ประเทศผู้สนับสนุน ประเทศผู้นำชุดกิจกรรมอื่นๆ ผู้แทนด้านห้องปฏิบัติการสาธารณสุขและห้องปฏิบัติการสุขภาพสัตว์จากภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (SAARC) ผู้แทนจาก GHSA Steering Committee ผู้แทนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ SEARO, WPRO, FAO HQ, WHO Lyon, OIE, GPP, DTRA, ASEAN Secretariat, US CDC, World Bank, USAID, CBEP, JICA ผู้แทนจากองค์กร หน่วยงานในประเทศไทย วิทยากรและแขกผู้มีเกียรติ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 120 คน
"ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมนี้คือเกิดความร่วมมือและประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กร ระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะของประเทศเพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และตอบโต้โรคระบาดร้ายแรงซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของมวลมนุษยชาติ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำที่สามารถผลักดันให้เกิดความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก" นายแพทย์โอภาส กล่าวทิ้งท้าย