กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--กองประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
"เครื่องสังคโลก" เป็นวัฒนธรรมเชิงหัตถศิลป์ที่ยังทรงคุณค่าสืบทอดอารยธรรมมานานกว่า 700 ปี และมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลก การทำเครื่องสังคโลกเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับสังคมสุโขทัยมาช้านานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและได้มีการพัฒนาจนมาเป็นเครื่องใช้ไม้สอยให้เข้ากับยุคสมัย ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผาได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการผลิตทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าทดแทนที่สามารถเลือกซื้อได้หลากหลายและมีราคาถูกกว่าสังคโลกมาก ส่งผลให้กรรมวิธีในการทำเครื่องสังคโลกแบบดั้งเดิมที่เกิดจากภูมิปัญญาในท้องถิ่นเริ่มค่อยๆสูญหายไป ผู้ประกอบการทยอยปิดตัวลง โดยมีชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัยและชุมชนบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย เพียง 2 แห่งที่ยังคงมีการทำเครื่องสังคโลกสุโขทัยอยู่ในปัจจุบัน และยังคงความโดดเด่นในเรื่องของการปั้น ลวดลายและน้ำเคลือบซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของสุโขทัยไว้
แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงและใช้ระยะเวลาในการผลิตนาน ตลอดจนอัตราของเสียจากการผลิตสูงถึงร้อยละ 20-25 ต่อครั้งการผลิต รวมทั้งขาดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนากระบวนการผลิตและขาดการสื่อสารอัตลักษณ์ให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใจ ทำให้ผลิตภัณฑ์สังคโลกไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ซึ่งหากไม่ได้รับการพัฒนาจะทำให้การผลิตเครื่องสังคโลกสูญหายไปตามกาลเวลา และท้ายที่สุดจะไม่เหลือเครื่องสังคโลกไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาและรู้จักเครื่องสังคโลกเพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์อีกต่อไปในอนาคต
ดังนั้นเพื่อให้เครื่องสังคโลกยังคงอยู่และสืบสานต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ จึงได้ร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) โดย สำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว (สพข.) ดำเนินโครงการการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผลิตภัณฑ์สังคโลกจังหวัดสุโขทัย)
โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์สังคโลกให้มีความโดดเด่นทั้งทางด้านคุณภาพและเอกลักษณ์เพื่อใช้เป็นของฝากและของที่ระลึก รวมถึงพัฒนาการออกแบบและจัดทำบรรจุภัณฑ์ให้มีความแข็งแรงทนทานต่อการขนส่งระยะไกล ตลอดจนเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์สังคโลก โดยยังคงเอกลักษณ์ลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของ จังหวัดสุโขทัย ให้เกิดสำนึกรู้ถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนนำรายได้ไปแก้ไขปัญหาด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป ส่งผลให้เป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาสำเร็จภายใต้โครงการดังกล่าวมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความสวยงาม นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สังคโลก อีกทั้งยังส่งเสริมการขายเพื่อให้สังคโลกสุโขทัยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เครื่องสังคโลกยังคงอยู่และสืบสานต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น โดยผู้ประกอบการสังคโลก ที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 2 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มผู้ประกอบการสังคโลก อำเภอเมืองเก่า และกลุ่มผู้ประกอบการสังคโลก อำเภอศรีสัชนาลัย
ทั้งนี้ วว. ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ประกอบการ ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการผลิตและการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สังคโลก เพื่อสร้างมูลค่าสินค้า รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของสังคโลกสุโขทัยที่มีความร่วมสมัย มีการแนะนำประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ในงานนิทรรศการแสดงผลงานของ วว. เพื่อส่งเสริมการตลาดและเพิ่มเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ ผลการดำเนินงานของโครงการนอกจากเป็นการพัฒนาคุณภาพ รูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังช่วยปรับปรุงแนะนำกระบวนการผลิต ลดต้นทุนการผลิตลงได้ร้อยละ 19 ด้วยการลดของเสียในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในขั้นตอนการเผา ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น ให้ชุมชนสามารถนำรายได้ไปแก้ไขปัญหาด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป นับเป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน