กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--มรภ.สงขลา
นักศึกษาเอกภาษาไทย มรภ.สงขลา เข้าร่วมค่าย "สร้างสรรค์งานเขียน : สีสันสันติภาพ" ศึกษาวรรณกรรม บทเพลงร่วมสมัย เปิดประสบการณ์ฝึกงานเขียนแนวใหม่
ผศ.อภิชาติ จันทร์แดง อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยากรและผู้จัดค่ายสร้างสรรค์งานเขียน : สีสันสันติภาพ ปี 2561 ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา เมื่อไม่นานมานี้ เปิดเผยว่า สถาบันสันติศึกษาต้องการใช้ศิลปะในการส่งเสริมและสร้างสรรค์สันติภาพ จึงจัดค่ายกิจกรรมนี้ขึ้นมา โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กระดับชั้นมัธยม และชวนนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเข้าร่วมด้วย เนื่องจากมองว่าในทางการเขียนกลุ่มเด็กที่ต่างระดับชั้น ต่างวัย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ การมีผู้เข้าร่วมที่หลากหลายถือเป็นการเติมเต็มสร้างสีสัน และได้ผลงานเขียนหลายมุมมากขึ้น ทุกคนสามารถทำกิจกรรมไปด้วยกันได้โดยไม่มีความต่างใดๆ ซึ่ง มรภ.สงขลา มีหลักสูตรภาษาไทย การเรียนการสอนเกี่ยวข้องกับงานเขียนทั้งคณะครุศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงชวนมาร่วมกิจกรรมด้วย นักศึกษาทั้ง 4 คนที่มาเข้าร่วมค่อนข้างมุ่งมั่นตั้งใจ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้สูง แม้ในส่วนการเขียนอาจยังไม่ค่อยกล้าคิดต่างหรือคิดนอกกรอบ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อคำว่าสร้างสรรค์ที่ค่ายต้องการให้เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เป็นไม่ดี อย่างน้อยก็เป็นต้นทุนในการเติมเต็มสิ่งอื่นๆ เข้าไปทำให้ง่ายที่จะชี้แนวทางใหม่ๆ
ดร.กมลทิพย์ กาลพันธ์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ผู้นำนักศึกษาไปเข้าร่วมค่ายสร้างสรรค์งานเขียนฯ กล่าวว่า ค่ายนี้ทำให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จักกับการเขียนที่หลากหลาย จากที่มองว่าทำไม่ได้แต่สามารถเข้าใจเสียใหม่ด้วยการถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์จากวิทยากรซึ่งเป็นนักเขียนมากความสามารถ รวมถึงนักแต่งเพลงค่ายแกรมมี่ อ.พยัต ภูวิชัย และ อ.ไลลักษณ์ อุปรานนท์ ศิลปินเซอร์แมนติกกับบทเพลงในอัลบั้มรักหลงฤดู มาถ่ายทอดประสบการณ์ตลอด 3 วัน 2 คืน ทำให้ทุกคนกล้าหยิบเรื่องต่างๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวันมาเล่าอย่างสร้างสรรค์มีชั้นเชิงทั้งในกลุ่มของงานเขียนประเภทเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และงานเพลง ไม่เพียงเท่านั้นหลังจากจบค่ายยังมีการเชิญนักเขียนทั้ง ผศ.อภิชาติ จันทร์แดง นักเขียนรางวัลพานแว่นฟ้า และ นายปรเมศวร์ กาแก้ว เจ้าของผลงานรางวัลมติชนอะวอร์ด มาเป็นวิทยากรบรรยายในห้องเรียน เพื่อจุดประกายความคิดเรื่องการอ่านการเขียนให้กับเพื่อนๆ คนอื่นด้วย ส่วนนักศึกษาที่ไปค่ายต่างได้ขยายเครือข่ายรู้จักกลุ่มนักเขียนเพิ่มขึ้น ถึงแม้บางคนอาจจะไม่ได้อยากเป็นนักเขียน แต่ประสบการณ์ที่ได้รับคงทำให้นำไปพัฒนาต่อยอดในด้านอื่นแทน
ด้าน น.ส.สุนทรียา ลาสสวัสดิ์ นักศึกษาโปรแกรมภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า เมื่อก่อนตนมองว่าวรรณกรรมเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้น จนกระทั่งเลือกเรียนหลักสูตรภาษาไทยในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยความคิดว่าคงเป็นสาขาที่ทำให้ได้อ่านหนังสือมากที่สุด เพราะมีการเรียนการสอนรายวิชาที่เกี่ยวกับหนังสือวรรณกรรม รวมทั้งวิชาที่ต้องอาศัยทักษะการเขียน เมื่อตัดสินใจไปค่ายนี้จึงนับเป็นความโชคดีอย่างมาก เพราะนอกเหนือจากประสบการณ์คือความกล้าคิดกล้าเขียนที่เพิ่มขึ้น วิทยากรทุกท่านทั้งกลุ่มงานเขียนและกลุ่มงานเพลงมีความใส่ใจคอยสังเกตจุดอ่อนจุดแข็งในตัวเด็กทุกคน พยายามดึงภาพความคิดของพวกเราให้ออกมาเรียบเรียงเป็นงานเขียนได้ จนกระทั่งทุกคนมีผลงานลงในหนังสือรวมเล่มชื่อ "แต่เราก็อยู่ร่วมกัน" สร้างความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจในการเขียนงานต่อไปได้เป็นอย่างดี
ปิดท้ายด้วย น.ส.จุฑามาศ บัวเนียม นักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว ก่อนไปก็คาดหวังไว้แล้วว่าจะได้พบกับนักเขียนมากประสบการณ์มาสอนฝึกเขียนงานในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น เมื่อได้ไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งของค่ายจริงๆ ยิ่งประทับใจมาก เพราะบรรยากาศสนุก ไม่เครียด และสามารถสร้างอารมณ์ในการทำงานงานได้จนมีผลงานออกมาหลายชิ้น ซึ่งทำให้รู้ถึงศักยภาพของตนมากขึ้นจากคำแนะนำของวิทยากร นี่นับเป็นการเริ่มต้นสานฝันตัวเอง และจะนำสิ่งที่ได้ไปพัฒนางานเขียนให้มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น