กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ทีโอที
กนอ.ผนึก กฟน.-ทีโอที-SME Bank ร่วมเดินหน้าโครงการความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน" ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค มุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ ทั้งระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง พลังงานอัจฉริยะ ศูนย์การให้บริการด้านข้อมูลอัจฉริยะ และการสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน กับผู้ประกอบการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน อุตสาหกรรมไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
ดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย ที่ชัดเจน ในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยเน้นการต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการผลิตและเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดย กนอ.มีบทบาทในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ซึ่งในวันนี้ (23 มกราคม 2562) ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับพันธมิตร 3 ฝ่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ SME Bank ในการศึกษา "โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบดิจิทัลและสื่อสารสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะ (Smart Digital/Telecommunication)และบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)" ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต ทั้งในด้านการวางระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบให้บริการธุรกรรมทางการเงิน การใช้พลังงานอัจฉริยะที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
"ความร่วมมือในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการต่อยอดภาคการผลิต เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาในด้านต่างๆ รวมทั้งการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตของไทย ด้วยนวัตกรรมที่จะเชื่อมโยงความเจริญไปสู่ภูมิภาค"ดร.สมจิณณ์ กล่าว
สำหรับเป้าหมายของความร่วมมือในโครงการดังกล่าว กนอ. กฟน. ทีโอที และ SME Bank จะร่วมกันพัฒนานิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค ในด้านต่างๆให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ที่จะนำไปใช้พื้นที่ทั้งในด้านการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2.การให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับบริการระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งในการวางระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบการสื่อสารไร้สาย รวมทั้ง Digital Solution Platform ที่ประกอบด้วยการให้บริการด้านการเก็บรักษาข้อมูลให้กับผู้ประกอบการโดยใช้ระบบศูนย์กลางการเก็บข้อมูล หรือ Data Center ด้วยรูปแบบการให้บริการในระบบต่างๆ อาทิ คลาวด์แพลตฟอร์ม (Cloud Platform ) ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล สามารถตอบโจทย์การทำงานของธุรกิจได้เป็นอย่างดี Internet of Things หรือ IoT Platform เป็นการเชื่อมโยงข้อมูล ด้วยระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน Cyber Security หรือ ระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันการเจาะข้อมูลเข้าสู่ระบบ Big Data หรือ ระบบศูนย์ข้อมูลกลางที่สามารถนำไปประมวลผลเพื่อประโยชน์การผลิตและวางแผน และ AI Platform หรือระบบประมวลผลอัจฉริยะเป็นต้น
3.การสนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ทางการตลาด การจัดการผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ที่ควบคู่กับการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ นิคมอุตสาหกรรมที่เข้ามาใช้พื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กฟน. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารโทรคมนาคมอัจฉริยะ และโครงการพัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ในนิคมอุตสาหกรรม ร่วมกับ กนอ.และทีโอที ซึ่งบทบาทของ กฟน.จากพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การร่วมกับ กนอ.พัฒนาพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ในนิคมอุตสาหกรรมโดยศึกษาและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) พลังงานทดแทน (Renewable Energy) การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมมีความทันสมัย ชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า เป้าหมายของความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทีโอที ต้องขอขอบคุณ กนอ. ธพว. และ กฟน.ที่ให้ความไว้วางใจ ทีโอที ในการที่จะร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารโทรคมนาคมสู่ดิจิทัล 4.0 เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรและของบุคลากร รวมถึงสนับสนุนด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลให้กับผู้ประกอบในนิคมอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต New S-Curve โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค และรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ Digital Transformation ด้วยการดำเนินงานที่ใช้ดิจิทัลเป็นbase และพัฒนาธุรกิจไปสู่ดิจิทัล 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาขยายตลาดสร้างรายได้เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคตต่อไป
"ทั้งนี้ ในวันนี้ (23 มกราคม 2562) กฟน.และทีโอที ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าและการสื่อสารที่จะนำไปสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) อันจะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการจัดสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าและการสื่อสารสำหรับนิคมอุตสาหกรรมเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในนิคมอุตสาหกรรมให้สวยงามเป็นระเบียบ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการ บูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร และ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างยั่งยืน"นายมนต์ชัยกล่าว
อย่างไรก็ตามโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค พัฒนาอยู่บนพื้นที่ ประมาณ 2,000 ไร่ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (ROBOTICS) 2.อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ (AVIATION AND LOGISTICS) 3.อุตสาหกรรมดิจิทัล (DIGITAL) 4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (BIOFUELS AND BIOCHEMICALS) 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (MEDICAL HUB)