กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรการฯ) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 และ 9 มกราคม 2562 โดยประชาชนผู้เข้าร่วมมาตรการฯ จะได้รับการชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 5 จากร้อยละ 7 สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตหรือ QR Code ในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท โดยผู้ลงทะเบียน 1 คน สามารถเลือกธนาคาร 1 แห่ง และบัญชี 1 เลขที่บัญชี นั้น
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมมาตรการฯ ดังกล่าว กระทรวงการคลังได้เปิดให้ผู้ลงทะเบียนสามารถเลือกธนาคารได้มากกว่า 1 แห่ง และในแต่ละธนาคารยังสามารถใช้จ่ายจากบัญชีธนาคารมากกว่า 1 เลขที่บัญชีได้ด้วย โดยสามารถเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตหรือ QR Code ได้เช่นเดิม ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียน 1 คน สามารถลงทะเบียนได้สูงสุดไม่เกิน 10 เลขที่บัญชี และสำหรับผู้ที่ได้ลงทะเบียนไปแล้ว หากต้องการใช้เลขที่บัญชีธนาคารหลายเลขที่บัญชีธนาคารในการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการตามมาตรการฯ สามารถลงทะเบียนแก้ไขเพื่อกำหนดเลขที่บัญชีธนาคารที่จะใช้ชำระเงินใหม่ได้ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนและอีเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้า
กระทรวงการคลังขอเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจมาลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 7 – 31 มกราคม 2562 ผ่านเว็บไซต์ www.epayment.go.th ซึ่งมีสาระสำคัญของมาตรการฯ ดังนี้ การจ่ายเงินชดเชยให้แก่ประชาชนที่ลงทะเบียน และได้ชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การชำระเงินผ่านบัตรเดบิต และ QR Code เพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมถึงสินค้าภาษีสรรพสามิต 5 ประเภท ได้แก่ 1. สุรา 2. ยาสูบ 3. น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 4. รถยนต์ และ5. รถจักรยานยนต์) สำหรับการซื้อสินค้าและรับบริการตั้งแต่วันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2562 กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale: POS) ที่สามารถแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าและบริการได้ โดยแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ออกจากราคาสินค้าและบริการที่ได้ชำระ และจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 และรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน หรือเท่ากับการซื้อสินค้าและบริการประมาณ 21,400 บาท โดยจ่ายเงินชดเชยผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชนภายในเดือนพฤศจิกายน 2562
โดยปัจจุบันมีธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการฯ แล้ว จำนวน 17 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารทิสโก้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธนาคารยูโอบี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารไอซีบีซี ธนาคารออมสิน ธนาคารซิตี้แบงค์ และธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) และมีผู้ประกอบการร้านค้าสมัครเข้าร่วมมาตรการฯ แล้ว จำนวน 65 ราย มีจำนวนสาขากว่า 15,000 แห่ง ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดการให้บริการการชำระเงินของแต่ละธนาคาร และรายชื่อผู้ประกอบการร้านค้าได้ทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th
สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3513, 3514