กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำทีมโดย รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานวิศวกรรมโยธา และ รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วสท. คุณหฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วสท.พร้อมด้วยทีมวิศวกรอาสา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบวิเคราะห์เหตุเครนถล่มในไซต์ก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านถนนพระราม 3 ซอย 45 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กทม.
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่มีอุบัติเหตุจากเครน หรือ ปั้นจั่น บ่อยครั้ง ล่าสุดจากเหตุการณ์เศร้าสลดเครนถล่ม เกิดขึ้นในเวลา 12.50 น. วันที่ 23 ม.ค. 2562 บริเวณคอนโดมิเนียมขนาด 35 ชั้นในระหว่างการก่อสร้าง พบทาวเวอร์เครนสูงประมาณ 40 เมตร ซึ่งเป็นปั่นจั่นหอสูงแบบคอห่าน (Goose Neck) มี 2 แขนต่อด้วยจุดหมุน ติดตั้งเสร็จแล้ว 12 เมตร เหลือเพียงท่อนสุดท้าย โครงการนี้เป็นการต่อเสาแบบยาก ปกติจะใช้ลักษณะซองดีดเป็นตัวประคอง โดยมีเสาเหล็กอยู่ด้านข้าง แต่กรณีนี้เป็นการสอดเสาจากด้านบนลงมา สาเหตุอาจเป็นไปได้ว่าระหว่างการตอกยึดใช้แรงมากเกินไป ทำให้เครนเสียสมดุลจนแขนบูมกระดก 180 องศาไปกระแทกแขนบูมอีกอันหนึ่งหักลงมา เหตุเกิดในขั้นตอนการประกอบเครนของทีมคนงานติดตั้งมีทั้งหมด 8 คน ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมารายย่อย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประกอบเครนเพื่อยกความสูงขึ้นไป จนกระทั่งเสาท่อนสุดท้ายที่สูงสุดเกิดหลุดร่วงลงมาทับไซโลปูนที่อยู่ด้านล่าง ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิต 5 ราย โดยเสียชีวิต 2 รายที่ชั้น 5 และเสียชีวิตที่ชั้นล่าง 2 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ติดค้างอยู่บนปลายเครน ท่ามกลางความตระหนกของประชาชนที่มาเฝ้าดูการช่วยเหลือและให้กำลังใจ ซึ่งเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยได้ช่วยลงมานำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บหลายราย ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงพักเที่ยง หากเกิดขึ้นในชั่วโมงการทำงานอาจทำให้เกิดการสูญเสียมากกว่านี้
ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ทำงานร่วมกับเครนมีทั้งหมด 3 คน ได้แก่ 1.ผู้ขับเครน ซึ่งต้องผ่านการอบรมความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญตามมาตรฐาน 2.ผู้ให้สัญญาณ และ3.ผู้ผูกของ ควบคุม ซึ่งต้องมีใบอนุญาตตามวิชาชีพวิศวกร ในการลดปัญหาเครนถล่ม แนะนำว่า ควรเพิ่มความรู้ความเชี่ยวชาญในการติดตั้ง ปฏิบัติการเครน โดยอบรมอย่างเข้มข้นตามมาตรฐานที่ถูกต้อง, โครงการอสังหาริมทรัพย์และงานก่อสร้างต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญและเพิ่มมูลค่างบประมาณด้านความปลอดภัยอย่างมีคุณภาพให้มากขึ้น และเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย ขั้นตอน และการควบคุมตามกฎหมายด้วย
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบของ วสท. สาเหตุเครนถล่ม มีความเป็นไปได้จากการติดตั้งด้วยความแรงเกินก่อนจะยึดสลัก เนื่องจากเครนชนิดนี้จะตั้งประมาณ 90 องศา ซึ่งมีโอกาสที่จะเอนห้อยหลังได้เสมอ หากช่างหรือผู้ควบคุมไม่มีความชำนาญในการขับก็จะทำให้เกิด Shock load อย่างรุนแรง จนเครนเสียสมดุลเอียงไปด้านหลังและถล่มลงมาในที่สุด ส่วนด้านความแข็งแรงของเครนนั้น เครนถูกออกแบบมาให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขความสมดุลและใช้หลักการทางกลศาสตร์เข้ามาช่วย
"หลังจากนี้ควรมีการรื้อถอนทั้งเครนที่พังลงมาเสียหาย และเครนอีกตัวที่ได้รับผลกระทบซึ่งยังมี Counter Weight ถ่วงอยู่ หากร่วงลงมาซ้ำอีกอาจสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนบริเวณนั้นได้ จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพราะสภาพอากาศไม่สามารถคาดเดาได้ จนกลายเป็นอุปสรรคและเกิดเหตุการณ์รุนแรงซ้ำได้อีกครั้ง ทั้งนี้ถ้าทางโครงการคอนโดมิเนียมยังไม่สามารถดำเนินการรื้อถอนเครนได้ทันที ขอให้มีการแจ้งเตือนประชาชนใกล้เคียงได้รับทราบถึงมาตรการป้องกัน ส่วนในด้านการพัฒนาบุคคลากรของไทยในการใช้และควบคุมเครนนั้น ทาง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งมีบทบาทในการอบรมและพัฒนาความรู้แก่บุคลากรด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง ได้เพิ่มเติมเนื้อหาอบรมเจาะลึกด้านความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างในการติดตั้งเครนด้วย เช่น การออกแบบฐานทาวเวอร์เครน การออกแบบจุดต่อต่างๆ เป็นต้น"
ด้านคุณหฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วสท. กล่าวว่า สำหรับ ปั้นจั่น หรือ เครน นับเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจแยกได้เป็นหลายชนิด เช่น ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane), ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Crane)รวมถึงรถเครน, ปั้นจั่นเหนือศีรษะ (Overhead Crane) ปั้นจั่นขาสูง (Gantry Crane) และรอกไฟฟ้า (Electric Hoist) ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกแบบต่าง ๆ โดยตามกฎหมายได้มีการกำหนดให้มีการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ไม่เกินกว่า 1 ปี ในต่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครนก้าวหน้า แต่ในประเทศไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดการใช้งานเป็นเครนเก่ามือสองมือสาม ดังนั้นการบำรุงรักษาในขั้นตอนก่อนการติดตั้งหรือขั้นตอนการติดตั้งที่ต้องมีการตรวจสอบตามคู่มือที่ผู้ผลิตกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ผู้บังคับเครนและผู้ยึดเกาะวัสดุอีกไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจควรเข้าฝึกอบรมตามมาตรฐานในการใช้งาน รวมถึงผู้รับเหมาและผู้รับจ้างจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพ ความพร้อมของเครนและความปลอดภัยในการใช้งาน
ปัจจุบันจะพบเครนกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพื้นที่ทำงาน รวมถึงไซต์ก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภคต่าง ๆ จึงนับว่าอุบัติภัยจากเครน อาจเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงภัยสาธารณะที่ควรแก้ไขเพราะส่งผลกระทบต่อผู้คนและชุมชนได้ ในอนาคตประเทศไทยจะมีการปรับปรุงข้อกฎหมายปั้นจั่นฉบับใหม่ เรียกว่า"กฎกระทรวงการบริหารความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับเครื่องจักรปั่นจั่น หม้อน้ำ พ.ศ. ..." คาดว่าจะออกภายในกลางปี 2562 โดยจะมีการเพิ่มมาตรการของการวางแผน (ทำแผนการยกก่อนใช้งานจริง) ลงนามรับรองการใช้งานโดยวิศวกรผู้ควบคุมเครน บังคับใช้ในงานที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง หรือในการยกที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น ยกของที่มีน้ำหนักมาก ๆ การยกของที่ใกล้เคียงกับพิกัดยก