กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเศรษฐกิจโลกปี 2562 ยังเติบโตได้ดีที่ระดับ 3.6% เทียบกับอัตราเติบโต 3.8% ในปี 2561 แม้มีหลายปัจจัยต้านที่ต้องจับตามอง
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดกล่าวสรุปในงานวิจัยว่า การเติบโตที่ขับเคลื่อนไปด้วยกันทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2561 เริ่มส่งสัญญาณเป็นทิศทางอ่อนตัวลง โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตหลายปัจจัยที่ตลาดรับรู้ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากำลังผันแปรไปในทางตรงกันข้าม เรามองเห็นความเสี่ยงจากการยุติมาตรการ QE และการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีหลายปัจจัยที่อาจจะทำให้การเติบโตชะลอตัวลงอย่างชัดเจน อาทิเช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การเมืองยุโรป นโยบายการรักษาสมดุลที่เข้มงวดของจีน และความผันผวนของราคาน้ำมัน
ภูมิภาคอาเซียน
การเติบโตด้านการส่งออกของภูมิภาคเริ่มส่งสัญญาณได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าและการเติบโตที่ชะลอตัวลงในประเทศจีนและยุโรป โดยสิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทยมีความเปราะบางต่อการเติบโตทางการค้าที่ชะลอตัวลง ในขณะที่เวียดนามและมาเลเซียน่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากขึ้นหากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเร่งตัวขึ้นอีก อย่างไรก็ตามภาพรวมการเติบโตของทั้งภูมิภาคยังดูดีเนื่องจากความต้องการภายในประเทศยังคงเข้มแข็ง ซึ่งขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายจากภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในขณะที่เงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนอยู่ในภาวะแตกต่างกัน และการอ่อนค่าของค่าเงินหยวนจีนน่าจะมีแรงกดดันให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศปกป้องค่าเงินของตน
ประเทศใดได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการเติบโตของโลก เนื่องจากการบิดเบือนทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับภาษีมีแนวโน้มจะส่งผลให้การเติบโตสุทธิของจีดีพีลดลง อย่างไรก็ตาม อาจมีบางประเทศที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้านี้เพราะเข้ามาตอบสนองความต้องการของสหรัฐฯ แทนที่สินค้าจากจีน เราคาดว่าจะมีประเทศที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมายังสหรัฐฯ ดังนี้
- สถานการณ์ที่ 1: ผลกระทบไปยังประเทศในห่วงโซ่อุปทานของจีน (เสียประโยชน์) ด้วยสมมติฐานการเก็บภาษี 25% จากสินค้านำเข้าสหรัฐฯ จากประเทศจีน ปริมาณการส่งออกของจีนมายังสหรัฐฯ จะลดลง 40% ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของประเทศต่างๆ ที่ส่งไปยังจีนเพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐฯ ลดลง 40%
- สถานการณ์ที่ 2: สินค้าจากประเทศอื่นเข้ามาแทนที่เพื่อตอบสนองความต้องการของสหรัฐฯ (ได้ประโยชน์) เราคาดว่าคู่แข่งของจีนจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้และสามารถขายสินค้ามายังสหรัฐฯ ได้มากขึ้นสัมพันธ์กับสัดส่วนการส่งออกในปัจจุบัน เราคาดว่าปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ของประเทศเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- สถานการณ์ที่ 3: ประเทศที่เคยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนจะได้ประโยชน์จากการป้อนวัตถุดิบให้ประเทศในสถานการณ์ที่ 2 ที่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้น
เราพบว่าเวียดนาม เม็กซิโก มาเลเซีย ไทย และแคนาดา เป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ข้างต้น ในแง่ของผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศเหล่านั้น
ภาพรวมเศรษฐกิจไทย – แนวโน้มยังดีแม้มีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก
"ปีนี้เป็นเรื่องของการสานต่อนโยบายอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีปัจจัยกระตุ้นอะไรใหม่ โดยเรื่องหลักในปีนี้คือการติดตามการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้" ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว
"แม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง แต่เราคาดว่าการเลือกตั้งและการส่งมอบงานจะเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวได้ดีและสอดคล้องกับสิ่งที่เรามองว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพของประเทศจะอยู่ที่ราว 4% เรายังคงเห็นแนวโน้มที่ดีของภาพรวมประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัว 4.5% ในปี 2562"
เราคาดว่ารัฐบาลใหม่จะยังคงดำเนินนโยบายต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้าไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร โครงการเมกะโปรเจ็ค ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ น่าจะดำเนินไปได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่อนุญาตให้โครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
"เราคิดว่าภาพรวมการเมืองที่ดีขึ้น ประกอบกับตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของไทย จะทำให้ประเทศไทยได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตใหม่หลังการเลือกตั้ง" ดร.ทิม กล่าว
เรายังคงน้ำหนักเป็นกลางกับภาพรวมการส่งออกของประเทศเนื่องจากผลกระทบที่ยังไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ถึงแม้ว่าความขัดแย้งดังกล่าวอาจส่งประโยชน์ให้ไทยเนื่องจากมีผู้ต้องการสินค้าไปทดแทนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาษี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ส่งออกไทยในการตอบสนองต่อความต้องการการนำเข้าสินค้าไทยที่เพิ่มมากขึ้นจากทั้งสหรัฐฯ กับจีน นอกจากนี้เรายังคงติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการใดออกมาช่วยการชะลอตัวลงของภาคการท่องเที่ยวหลังจากเกิดเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในต่างจังหวัดที่ยังไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว โดยในปีนี้รัฐบาลคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 40 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 38 ล้านคน
เราคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อสะท้อนอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดในปี 2561 เราได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปว่าจะอยู่ที่ 2.0% ในปี 2562 (จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.3%) อย่างไรก็ตามเงินเฟ้ออาจเพิ่มสูงขึ้นหากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตั้งไว้ที่ 1%-4% หลังจากที่ส่วนมากอยู่ต่ำกว่าระดับ 1% นับตั้งแต่มีการใช้นโยบายกรอบเงินเฟ้อดังกล่าวในปี 2558
นโยบายการเงิน – ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเร็วกว่าคาด
เราคาดว่า ธปท. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในปีนี้ โดยมองความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งประมาณการในตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของเราอาจต้องมองพัฒนาการของตลาดโลกประกอบด้วย ทั้งนี้ ธปท. มีความกังวลเรื่องความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับต่ำเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีความผันผวนในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเกิดจากการซื้อเก็งกำไรและพฤติกรรมของการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสี่ยง โดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความเห็นว่ามาตรการที่รอบคอบแบบมหภาคอย่างเดียวไม่เพียงพอจะดูแลความเสี่ยงเหล่านั้น การประชุม กนง. ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เราคาดว่าจะมีการส่งสัญญาณหลังจากที่กระบวนการปรับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับปกติเริ่มขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มองไปข้างหน้า เราเห็นว่าจะมีการใช้จ่ายที่มากขึ้นและมีความไม่แน่นอนในภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นเราเชื่อว่า ช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เข้มแข็งได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เพื่อสะท้อนปัจจัยเหล่านี้ เราได้ปรับลดประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 5.0% ของจีดีพี จากเดิมที่มองไว้ที่ 7.0% โดยค่าเฉลี่ยของตลาดอยู่ที่ 8%
บทสรุป – ช่วงเวลาควรระวัง ความท้าทายมาเป็นระลอกแต่ยังอยู่ในวิสัย
เราคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ชะลอตัวลงในปี 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ยุโรป และจีน การระดมทุนมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ความตึงเครียดทางการค้า และการเมืองยุโรปจะเป็นเรื่องที่ต้องติดตามในปีนี้ และต่อเนื่องไป ซึ่งสร้างความท้าทายมากขึ้นให้กับตลาดประเทศเกิดใหม่ ความท้าทายเหล่านี้อาจจะบรรเทาลงบ้างจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแถบลาตินอเมริกา แอฟริกา และตะวันออกกลาง ตลาดประเทศเกิดใหม่ที่ถูกมองว่าจะมีการพัฒนาขึ้น น่าจะมีโอกาสดีขึ้นในแง่ของการเติบโตและกระแสการลงทุนในอนาคต ในส่วนของประเทศมหาอำนาจหรือเศรษฐกิจใหญ่ๆ ของโลกกำลังเผชิญกับรอบการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่บางประเทศในทวีปเอเชียกำลังเผชิญปัญหาการเติบโตที่ชะลอตัวลงเนื่องจากสังคมผู้สูงวัยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศที่เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการคมนาคมขนส่ง และงานด้านกฎหมาย กฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ น่าจะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่าในการเผชิญกับความท้าทายที่มาเป็นระลอกในอนาคต
เกี่ยวกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
เราเป็นธนาคารสากลชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 150 ปี ในประเทศที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการค้า การลงทุนและการสร้างความมั่งคั่ง หลักการที่สืบทอดมาและค่านิยมองค์กรของเราสะท้อนอยู่ในพันธกิจของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่ว่า Here for good
เราดำเนินธุรกิจในกว่า 60 ตลาด ด้วยจำนวนสาขากว่า 1,000 แห่งและตู้เอทีเอ็มประมาณ 3,000 เครื่องบริษัทสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจำกัด มหาชน ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในลอนดอนและฮ่องกง นอกจากนี้ยังได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติในประเทศอินเดียอีกด้วย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการอ่านบทความจากทีมนักเศรษฐศาสตร์ โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.sc.com และติดตามสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้ทาง Twitter, LinkedIn และ Facebook