กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--เคพีเอ็มจี
ผลสำรวจ: ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนสำหรับเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนยานยนต์ในอนาคต; โตโยต้าได้รับยกย่องให้เป็นแบรนด์ที่มีความพร้อมที่สุดสำหรับอนาคต
จากที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนานใหญ่ ซึ่งมีเรื่องของการเชื่อมต่อ (connectivity) และระบบดิจิทัล (digitization) เป็นเทรนด์อันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ จากผลสำรวจ "20th KPMG Global Automotive Executive Survey (GAES)" ผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ โดยผู้เล่นแต่ละรายจำเป็นต้องสร้างจุดแข็ง สร้างความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างไปจากเดิม อย่างไรก็ตามผู้บริหารส่วนใหญ่ยังไม่มีความกังวลมากนักถึงผลกระทบต่อกำไรที่จะลดลง ทั้งนี้ เคพีเอ็มจีได้เตือนผู้รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ (original equipment manufacturers – OEMs) ว่าหากผู้รับจ้างผลิตยังไม่ได้วางแผนรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต จะส่งผลต่อกำไรที่ลดลงอันเนื่องมาจากปัจจัยแวดล้อมทางการตลาดที่มีมากขึ้น และความต้องการของตลาดที่หดตัวลง
ผลสำรวจอื่นๆ ของ KPMG GAES ประจำปี ซึ่งมาจากการสำรวจผู้บริหารในอุตสาหกรรมยานยนต์ และเทคโนโลยีเกือบ 1,000 ราย และผู้บริโภคประมาณ 2,000 รายทั่วโลก พบว่า
มีความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมยานยนต์จะถูกขับเคลื่อนโดยนโยบาย กฎข้อบังคับ
แต่ละประเทศมีแนวโน้มที่จะพัฒนาระบบส่งกำลังยานยนต์ (powertrain) ที่ตรงกับวัตถุดิบ (raw material) ที่ประเทศนั้นมี เช่น สหรัฐอเมริกาจะมุ่งพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engines – ICEs) และยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell electric vehicles – FCEVs) ในขณะที่ประเทศจีนจะเน้นระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (e-mobility)
ตลาดค้าปลีกอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดย 30%-50% ของร้านค้าปลีกจะหายไป หรือถูกเปลี่ยนสภาพไปภายในปี พ.ศ. 2568
จะไม่มีผู้เล่นรายไหนที่สามารถคุมห่วงโซ่แห่งคุณค่าได้ทั้งหมด แต่ละองค์กรจะมีความร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต
ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าจะซื้อรถยนต์ไฮบริดเป็นคันต่อไป
ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (battery electric vehicles – BEVs) กลับมาครองเทรนด์การผลิตอันดับ 1 ของปีชนะยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell electric vehicles : FCEVs)
โตโยต้าได้รับเลือกจากผู้บริหารให้เป็นแบรนด์ที่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้ดีที่สุด ตามมาด้วย BMW และ Tesla
คุณดีเตอร์ เบคเกอร์ ประธานฝ่ายยานยนต์ของเคพีเอ็มจี กล่าวว่า "อุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องตระหนักว่าความไม่ปกติคือความปกติในยุคของการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่มีคำตอบหนึ่งเดียวที่จะสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกได้หมด ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างมีการจัดการที่แยกจากกันเป็นส่วนๆ แม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงกันบ้าง องค์กรเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลง ควบรวม หรือเปลี่ยนสภาพเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ซึ่งเคพีเอ็มจีเห็นถึงความไม่แน่นอนที่ค่อนข้างมากสำหรับธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ (OEMs) ส่วนใหญ่ที่ได้รับการสำรวจเชื่อว่าพวกเขาสามารถปรับใช้แพล็ตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อให้บริการแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้ แต่เราเห็นต่าง เราเชื่อว่าผู้เล่นดั้งเดิมที่ลงทุนในสินทรัพย์/อุปกรณ์ทั้งหมดด้วยตัวเอง จะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในการครองตลาด และการแข่งขันกับองค์กรเทคโนโลยีรายใหญ่ที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวขับเคลื่อนการแข่งขันในตลาดยานยนต์"
ผู้ออกกฎหมายเป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
ผู้บริหารมากกว่า 3 ใน 4 (77%) เชื่อมั่นว่าผู้ออกกฎหมายเป็นตัวขับเคลื่อนเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยการออกนโยบายและกฎข้อบังคับ ซึ่งเข้ามาแทนที่บทบาทของ OEMs ซึ่งเป็นมากว่าหลายทศวรรษ คุณเบคเกอร์ กล่าวว่า "จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่านโยบายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในทวีปเอเชียและในประเทศสหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้ากว่าทวีปยุโรป ซึ่งเห็นได้จาก 83% ของผู้บริหารจากประเทศจีน และ 81% ของผู้บริหารจากสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าประเทศของพวกเขามีนโยบายทางยานยนต์ที่ชัดเจน ในขณะที่มีซีอีโอจากยุโรปตะวันตกเพียงครึ่งเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น"
ไม่มีระบบขับเคลื่อนระบบเดียวที่ครองตลาด
ผู้บริหารทั่วโลกเชื่อว่าภายในปี พ.ศ. 2583 ระบบขับเคลื่อนแต่ละระบบจะมีส่วนแบ่งตลาดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเป็น BEVs 30%, ระบบไฮบริด 25%, FCEVs 23% และ ICEs 23% โดยมี BEVs เป็นผู้นำตลาด ในส่วนของผู้บริโภคนั้นไม่ต้องการเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนทางเลือกแบบเต็มรูปแบบ ระบบไฮบริดจะเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของผู้บริโภคสำหรับรถยนต์คันต่อไป โดยมี ICEs เป็นตัวเลือกที่ตามมา
คุณธิดารัตน์ ฉิมหลวง ประธานฝ่ายดูแลลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก แต่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งในภูมิภาคที่ต่างกำลังมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของตนเอง ประกอบกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ดังนั้นผู้ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจึงต้องหาวิธีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเอง ยานยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้า (Electric Vehicles – EVs) สามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้ เนื่องจากความต้องการ EVs ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ EVs และนโยบายทางภาษีที่ส่งเสริมการผลิต EVs ในประเทศไทยต่างเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในการเพิ่มความหลากหลายในการผลิต สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสูงสุด"
ระบบขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าจะรวมเข้าด้วยกัน
ความคาดหวังที่จะมีระบบนิเวศของการคนส่งผู้โดยสาร และสินค้ารวมกันนั้นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหาร 60% เห็นด้วยว่าในอนาคตจะไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า คุณเบคเกอร์ กล่าวว่า "สิ่งที่ชัดเจนคือ จะไม่มีผู้เล่นรายใดที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเองอย่างเดียว ผู้บริหาร 83% มีความเห็นว่าระบบนิเวศที่ควบรวมการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า mobi-listics จะทำให้แต่ละองค์กรต้องทบทวนโมเดลธุรกิจของตน และเห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการขนส่ง ซึ่งองค์กรที่สามารถมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า และการขนส่งสินค้า มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ครอบครองแพล็ตฟอร์ม"
ท่านสามารถอ่าน 2019 KPMG Global Automotive Executive Survey ในรายละเอียด โดยสามารถเรียกดูข้อมูลแยกตามประเทศ ตามผู้ตอบคำถาม และตามหัวข้อเรื่องได้ที่ home.kpmg/gaes2019
เกี่ยวกับ KPMG's Global Automotive Executive Survey 2019
การสำรวจในครั้งนี้มีผู้เข้าสำรวจ 3,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มี 1,000 รายเป็นผู้บริหารในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยกว่าครึ่งเป็นผู้บริหารระดับ C-level ซีอีโอ ประธาน หรือประธานกรรมการ โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ได้รับการสำรวจอาศัยอยู่ที่ยุโรปตะวันตก และยุโรปตะวันออก 14% จากทวีปอเมริกาเหนือ และจากทวีปอเมริกาใต้ ประเทศอินเดียและภูมิภาคอาเซียน ประเทศจีนและแถบประเทศญี่ปุ่นกับประเทศเกาหลี อย่างละ 10% โดยเปอร์เซ็นต์ที่เหลือมาจากประเทศที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น
ผู้ตอบแบบสำรวจมาจากตัวแทนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่แห่งคุณค่า ตั้งแต่ผู้ผลิตรถยนต์ ซัพพลายเออร์ขั้นที่ 1, 2 และ 3 ตัวแทนจำหน่าย ผู้ให้บริการด้านการเงิน ผู้ให้บริการด้านการขนส่ง ผู้ให้บริการด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมากกว่า 60% ของผู้บริหารทั้งหมดทำงานในองค์กรที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และ 26% อยู่ในองค์กรที่มีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี การสำรวจครั้งนี้ทำผ่านระบบออนไลน์ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561
นอกจากนี้ยังได้มีการสัมภาษณ์ผู้บริโภค 2,000 รายจากทั่วโลก ประกอบด้วยผู้บริโภคทุกช่วงอายุ และระดับการศึกษา เพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก มุมมองและความคิดเห็นที่มีคุณค่าของผู้บริโภคทุกกลุ่ม ท่านสามารถดูข้อมูลการสำรวจครั้งนี้ได้ที่ home.kpmg/gaes2019 ซึ่งเป็นเครื่องมือออนไลน์ที่สามารถโต้ตอบได้ โดยท่านสามารถเปรียบเทียบสถิติได้โดยแบ่งตาม ประเทศ ภูมิภาค คำถาม ฯลฯ รวมถึงท่านสามารถดาวน์โหลดข้อสรุปงานวิจัย KPMG's Global Automotive Executive Survey 2019 ได้ที่ home.kpmg/gaes2019 เช่นกัน
-END-
เกี่ยวกับเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี ภาษี และการให้คำปรึกษา เราดำเนินงานใน 154 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 200,000 คน ที่ทำงานร่วมกันในบริษัทสมาชิกทั่วโลก บริษัทที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเคพีเอ็มจีจะถือเป็นสมาชิกของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล โคออเปอเรทีฟ (KPMG International) เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทสัญชาติสวิส ทั้งนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นสมาชิกเคพีเอ็มจีเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากกัน และมีอิสระตามกฎหมาย
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย
เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เป็นสมาชิกของ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี ภาษีและกฎหมาย และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 1,700 คน