กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--กองประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์หลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่แล้วเสร็จ จากการดำเนิน "โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน" ภายใต้การบริหารจัดการโครงการโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. ลงสู่ชุมชนด้านการจัดการขยะที่ต้นทาง เพื่อเพิ่มมูลค่าและการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยเพื่อถ่ายทอดจากหิ้งสู่ห้าง ผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในการสร้างมูลค่าเพิ่มเกิดแรงจูงใจในการคัดแยกขยะชุมชนได้อย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0
"ถ่านหอม 3 in 1" เป็นนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าขยะเปลือกผลไม้จากตลาดสด โดยการใช้องค์ความรู้พื้นฐานในการกำจัดกลิ่นน้ำมันดินที่เกิดจากการเผาถ่านเปลือกผลไม้ มีการพัฒนาการใช้องค์ความรู้ด้านการผลิตถ่านกรองก๊าซจากกะลาปาล์มโดยเทคนิคการกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีเอิบชุ่ม เพื่อเกิดองค์ความรู้ในการพัฒนาคุณสมบัติถ่านเพื่อทำการปล่อยกลิ่นหอม และดูดกลิ่นอับชื้น หรือกลิ่นเหม็นในห้องน้ำ/ตู้เสื้อผ้า/รถยนต์
ถ่านหอม 3 in 1" มีความโดดเด่นในเรื่องของการปล่อยกลิ่นหอม ดูดกลิ่นอับชื้น และเมื่อหมดสภาพยังใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินปลูกต้นไม้ได้อีกด้วย
เป็นการสร้างมูลค่าให้แก่ขยะถึง 1,200 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อการบริหารจัดการขยะ ตามแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะด้วยนวัตกรรม มุ่งสู่ประเทศไทย 4
โครงการวิจัยนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าขยะเปลือกผลไม้ซึ่งเป็นขยะสด ผลิตเป็นถ่านหอม และใช้ขยายผลต่อยอดการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ในช่วงที่มีผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ
พื้นที่ขยายผลโครงการ องค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยถ่ายทอดสู่ชุมชน จัดตั้งเป็นหมู่บ้านต้นแบบสีเขียวในการจัดการขยะ ณ หมู่ 9 ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ
ผลที่ได้รับเชิงสังคม
1.เกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากร โดยการเพิ่มมูลค่าขยะ เพื่อเป็นกลไกให้เกิดการคัดแยกขยะที่ต้นทางได้อย่างถูกต้อง
2.ลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
3.เกิดการกระตุ้นให้ชุมชนได้มีการนำแนวคิดและความรู้ที่ได้ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนให้เกิดความยั่นยืนและเป็นชุมชนปลอดขยะในอนาคต
4.ลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะ
5.เกิดกิจกรรมบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน
ผลที่ได้รับเชิงเศรษฐกิจ
1.เกิดรายได้ของชุมชน จากการเพิ่มมูลค่าเปลือกผลไม้จากการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าเปลือกผลไม้ หรือผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ เกิดเป็นรายได้ประมาณการ 800-1,200 บาทต่อกิโลกรัม (29-50 บาทต่อชิ้น)
2.เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน
3.เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน และสามารถส่งขายเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกได้ในอนาคต
4.เกิดเป็นแนวทางเลือกหนึ่งในการใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้าจากเกษตรเมื่อราคาตกต่ำ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม "ถ่านหอม 3 in 1" ได้ที่ ศูนยเชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. (ดร.เรวดี อนุวัฒนา) โทร. 0 2577 9000, 0 2577 9479 ในวันและเวลาราชการ