กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--AU Communication
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นำโดย ผศ.ดร.อารีวรรณ เอี่ยมสะอาด รองอธิการบดี เข้าร่วมพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ "การใช้หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ" ซึ่งถือได้ว่าเป็นการร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ในการพัฒนาการผลิตครูร่วมกันของประเทศไทย พร้อมเริ่มในปีการศึกษา 2562
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับบัณฑิตหลังสำเร็จการศึกษา ให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานสากล มีมาตรฐานวิชาชีพครู และเป็นครูมืออาชีพที่มีคุณภาพ มีการนำทฤษฎีการจัดการเรียนรู้จากประเทศผู้นำด้านการศึกษา อาทิ ประเทศฟินแลนด์ อเมริกา สิงคโปร์ มาเป็นฐานในการออกแบบหลักสูตร อีกทั้งในรายวิชาเอกและรายวิชาชีพครู ร่วมกับการปฏิบัติงานจริงในสถานศึกษา โดยจะมีการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงชั้นปีที่ 4 ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติงานจริงในสถานศึกษาตั้งแต่พื้นฐานการทำงานมีการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มวิชาพื้นฐาน (การศึกษาทั่วไป) ที่สอดคล้องและตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ราชภัฏ 20 ปี สร้างอัตลักษณ์บัณฑิตด้านจิตอาสา ทักษะในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งนำศาสตร์พระราชา และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้าน ภาษาอังกฤษ ควบคู่กับค่ายพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษ Boot Camp เพื่อ ให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในสาขาทั่วไป ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) สำหรับหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาอังกฤษ นักศึกษาวิชาชีพครูสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านคุรุนิพนธ์ Portfolio ที่บันทึกการเรียนรู้และสิ่งที่ได้รับการพัฒนา ก่อนสำเร็จการศึกษาในชั้นปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 นักศึกษาวิชาชีพครูจะได้รับการเติมเต็มในส่วนที่ขาดและต้องการพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อสำเร็จเป็นครูมืออาชีพที่มีคุณภาพ
โดยการลงนามความร่วมมือของ 38 มหาวิทยาลัยราชภัฏขับเคลื่อนการพัฒนาวิชาชีพครูนี้ ที่ใช้หลักสูตรหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ จะเริ่มในปีการศึกษา 2562 ส่วนแนวทางการจัดสอบรับใบอนุญาตฯ ของหลักสูตรครู 4 ปีนั้น เบื้องต้นคุรุสภาจะจัดสอบพร้อมกันปีละ 1 ครั้ง แบ่งการสอบเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก นักศึกษาเรียนชั้นปีที่ 2 สอบความรู้พื้นฐานวิชาชีพความเป็นครู ถ้าสอบช่วงแรกไม่ผ่าน จะกลับมาสอบแก้ตัวในชั้นปีที่ 3 และช่วงที่ 2 นักศึกษาเรียนชั้นปีที่ 4 ทดสอบความรู้ในการปฏิบัติการสอนต่อไป