กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (สกว.)
มทร.ล้านนา วิจัยระบบซับน้ำต้นแบบของกรมป่าไม้ ที่ ตำบลทับทัน อ.แม่แจ่ม พบว่าสามารถช่วยให้เกิดการดูดซับน้ำไว้ในดินได้ถึง 52 เปอร์เซ็นต์ (มีสัมประสิทธิ์น้ำท่า 48 เปอร์เซ็นต์)
"แม่แจ่มโมเดล" คือความพยายามของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการแก้ปัญหาการบุกรุกผืนป่าเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ที่สร้างปัญหาหมอกควันและการแย่งชิงทรัพยากรน้ำมาอย่างยาวนาน ไปสู่การทำการเกษตรแบบผสมผสานหรือวนเกษตรที่ทำให้ผืนป่าและพื้นที่เกษตรสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นี้ก็คือ "ระบบซับน้ำ"
คุณศักดา มณีวงศ์ นักวิชาการป่าไม้ ชำนาญการพิเศษ จากกรมป่าไม้ อธิบายที่มาระบบซับน้ำของกรมป่าไม้ว่า เป็นการนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตอนเสด็จพระราชดำเนินมาที่อำเภอแม่แจ่ม เกี่ยวกับเทคนิคการเก็บกักน้ำแบบคลองใส้ไก่ มาประยุกต์กับการออกแบบเชิงเขาให้สามารถเก็บน้ำที่ไหลบ่าลงมาไว้ในดินที่เรียกว่า Swale ของ เพอร์มาคัลเชอร์ (permaculture)* โดยในปี 2560 กรมป่าไม้ได้เลือกพื้นที่ 200 ไร่ ในหมู่บ้านสองธาร ตำบลทับทัน อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตัวเกษตรกรซึ่งใช้ประโยชน์พื้นที่แห่งนี้มีการเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดไปเป็นพืชที่สอดล้องกับแนวทางการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นพืชที่ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ มาเป็นพื้นที่ก่อสร้างระบบซับน้ำต้นแบบ
"แม้เราจะพบว่าระบบซับน้ำต้นแบบที่เราสร้างขึ้นมานี้ได้ทำให้ดินเชิงเขามีน้ำสะสมอยู่สำหรับการเพาะปลูกมากขึ้นก็จริง แต่คำถามคือ ระบบซับน้ำนี้ได้ช่วยเก็บน้ำไว้ได้เท่าไหร่ และเพียงพอกับความต้องการของพืชที่เกษตรกรเขาปลูกหรือไม่" คุณศักดา กล่าว
นั่นจึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง การออกแบบระบบและติดตั้งอุปกรณ์วัดวิเคราะห์ข้อมูลระบบซับน้ำของกรมป่าไม้ ภายใต้ชุดโครงการ "วิจัยนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่เขตภาคเหนือ : ลำปาง เชียงใหม่และเชียงราย" ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
นายประดิษฐ์ เจียรกุลประเสริฐ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การทำงานครั้งนี้เป็นเป็นร่วมมือกันระหว่างกรมป่าไม้ มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย และ มทร.ล้านนา โดยทีมวิจัยได้นำข้อมูลต่างๆ เช่น ทั้งภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลการเพาะปลูก ข้อมูลสถิติทางอุทกวิทยาและอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ มาประเมินศักยภาพของระบบซับน้ำที่สร้างขึ้น เพื่อหาคำตอบว่าระบบซับน้ำที่กรมป่าไม้ ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินในการสร้างขึ้นในพื้นที่บ้านสองธาร จะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ทดลองมีน้ำเพียงพอกับการทำเกษตรหรือไม่
"สิ่งที่เราทำคือความพยายามจะระบุให้ได้ว่า ระบบซับน้ำของกรมป่าไม้ในพื้นที่แห่งนี้จะช่วยให้เกิดการดูดซึมน้ำเก็บไว้ในดินได้เท่าไหร่ในช่วงที่เกิดฝนตก โดยงานวิจัยเราพบว่า จากปริมาณน้ำฝนที่ไหลผ่านเชิงเขาแห่งนี้ 100 หน่วย ระบบซับน้ำแห่งนี้สามารถเก็บรักษาน้ำลงในดินได้ 52 หน่วย เหลือเป็นน้ำที่ไหลสู่เบื้องล่าง 48 หน่วย นั่นคือมีค่าสัมประสิทธิ์น้ำท่าเท่ากับ 48 เปอร์เซ็นต์"
"จากการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับตัวเกษตรเพื่อทำทำปฏิทินการเพาะปลูกของเกษตรกรนั้น พบว่าความต้องการใช้น้ำของพืชที่ปลูก จะอยู่ที่ 422,517 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งประกอบด้วย ปริมาณน้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำในแหล่งกักเก็บ จะอยู่ที่ปีละ 210,674ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งแสดงว่าซับน้ำยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของที่นี่ โดยงานวิจัยเราได้เสนอแนวทางอื่นๆ ที่ควรทำไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติมพร้อมเดินระบบส่งน้ำเข้ามาเสริม เช่นใช้ระบบน้ำหยดที่ช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างประหยัด การปล่อยให้ต้นไม้บางส่วนบางพื้นที่ใช้น้ำจากธรรมชาติ รวมไปถึงการเลือกพันธุ์ไม้ที่ใช้น้ำน้อย" คุณประดิษฐ์ กล่าวสรุป
คุณศักดา กล่าวเสริมว่า จากระบบซับน้ำต้นแบบของกรมป่าไม้ที่ครอบคลุมพื้นที่ 200 ไร่เอื้อประโยชน์กับเกษตรกรจำนวน 27 ราย ขณะนี้เริ่มมีเกษตรรายอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง นำจอบเสียมไปขุดทำระบบซับน้ำในแปลงในไร่ของตนเองแล้ว ขณะที่ลำธารเล็กๆ ใกล้ๆ ซับน้ำที่เคยแห้งเหือดในหน้าแล้ง ก็ปรากฏมีน้ำให้เห็นตลอดปี
"งานวิจัยของ มทร.ล้านนา และความเปลี่ยนแปลงที่บ้านสองธาร คือสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าระบบซับน้ำเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยเก็บกักน้ำไว้เพื่อการเกษตรสำหรับพื้นที่ลาดชันได้ทั้งในระดับแปลงขนาดใหญ่ และแปลงขนาดเล็ก ที่เป็นตัวอย่างที่สามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆได้ต่อไป"
* เพอร์มาคัลเชอร์ (permaculture) เป็นแนวคิดและวิถีทางการเกษตรที่เน้นเรื่องความยั่งยืนของชีวิตและสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นในต่างประเทศเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว (ที่มา : https://www.sator4u.com/paper/1939 )