กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--newsperfect
กรมศุลกากรเกาหลีใต้ และสคพ. ได้ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการในบันทึกความเข้าใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้านวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บันทึกความเข้าใจนี้ มีวัตถุประสงค์ในการก่อให้เกิด และใช้ความพยายามเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กรในส่วนที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเชื่อมโยงองค์กรพัฒนาภูมิภาคอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีบทบาท และภารกิจสอดคล้องกัน เช่น คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจอย่างเป็นทางการเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับจาก ดร.ปิยะพร เอี่ยมฐิติวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ตามด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ของ นายชาน-คี ลี อธิบดีกรมศุลกากรเกาหลีใต้ เกี่ยวกับแผนการในอนาคต และประโยชน์ที่ภูมิภาคจะได้รับภายใต้ความร่วมมือนี้ โดยมีนางสาวอรุณี พูลแก้ว รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนามฯ ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวลงนามโดยนายชาน-คี ลี อธิบดีกรมศุลกากรเกาหลี สำนักวางแผนและประสานงาน และดร.ปิยะพร เอี่ยมฐิติวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) โดยมีนายฮุน คิม รองผู้อำนวยการกองความร่วมมือระหว่างประเทศของกรมศุลกากรเกาหลีใต้ และ นางสาวดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา เป็นพยาน
บันทึกความเข้าใจเป็นโอกาสอันดีสำหรับสคพ. ที่จะช่วยผลักดันประเทศ และภูมิภาคให้มีการใช้มาตรการเพื่อส่งเสริมนโยบายการค้าที่ไร้อุปสรรค ซึ่งเป็นกฎระเบียบใหม่ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี พ.ศ.2560 ดร.ปิยะพร เอี่ยมฐิติวัฒน์ กล่าวถึงความสำคัญ และบทบาทเชิงกลยุทธ์ของการบริหารศุลกากรยุคใหม่ ในการส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งในปัจจุบันบริบทของศุลกากรได้เปลี่ยนแปลงไปโดยมีมิติที่มากขึ้นกว่าเดิม สืบเนื่องมาจากเป้าหมายของสหประชาชาติในการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม โดยการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพสูง (ลดขั้นตอน ลดเวลา) การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ส่งเสริมให้มีความมั่นคงด้านอาหารมากขึ้น และมิติอื่นๆ ภายใต้แนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ระบบการบริหารศุลกากรต้องมีความทันสมัย และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามระบบการค้าในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การค้าในรูปแบบดิจิทัล หรือออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบจากเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในหลายๆด้านต่อสังคม ดังนั้น การพัฒนาระบบศุลกากรในยุคใหม่จะต้องสามารถสนับสนุนการค้าที่ไร้พรมแดน และไร้รอยต่อ รวมถึงเมื่อมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ประกอบในกระบวนการระบบศุลกากร สามารถเปิดโอกาสให้มีการหาแนวทางใหม่ๆเชิงนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดนี้ เสมือนการปฏิรูประบบ และระเบียบศุลกากรให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะสนองต่อบทบาทใหม่ของศุลกากรในอนาคต
คุณลี อธิบดีกรมศุลกากรเกาหลีใต้ กล่าวว่ากรมศุลกากรเกาหลีใต้ มีนโยบายเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้มาตรการเพื่อลดความซับซ้อนของขั้นตอนการค้า และกำจัดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นที่ลดประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหวสินค้าข้ามพรมแดน เป็นต้น
ดังนั้น การลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจกับสคพ. มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกรมศุลกากรเกาหลีใต้ เนื่องจากสคพ.เป็นองค์กรภูมิภาคที่มีศักยภาพ และความรู้ด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้งานวิจัย และการจัดอบรมในระดับภูมิภาคเป็นกลไกในการส่งเสริมการค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน กรมศุลกากรเกาหลีใต้ เล็งเห็นโอกาสที่จะสามารถบูรณาการ และต่อยอดความรู้ และประสบการณ์ ในทางวิชาการต่างๆ เช่น ความเชี่ยวชาญด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อยกระดับความรู้ ในภูมิภาคจะเป็นพัฒนาการที่สำคัญ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นปัจจัยสนับสนุนเป้าหมาย และความเชี่ยวชาญของกรมศุลกากรเกาหลีใต้ ตามข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
เพื่อประชาสัมพันธ์การลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ จึงได้มีการสัมมนาภายใต้หัวข้อ "การเผชิญหน้ากับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ของ กรมศุลกากรเกาหลีใต้: การพัฒนาอย่างยั่งยืนและอุตสาหกรรม 4.0" และกิจกรรมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วงท้ายของโปรแกรม โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาภูมิภาค และสื่อมวลชน
เกี่ยวกับกรมศุลกากรเกาหลี
กรมศุลกากรเกาหลี เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2513 ภายใต้กระทรวงยุทธศาสตร์และการเงินของเกาหลีใต้ และเป็นสมาชิกขององค์การศุลกากรโลก กรมศุลกากรเกาหลีใต้ ได้การยอมรับว่าเป็นองค์กรที่บุกเบิก และมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถประยุกต์ใช้ และนำโซลูชั่นใหม่ๆมาบริหารงานกรมศุลกากร ตัวอย่าง เช่น การนำระบบพิธีการศุลกากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มตัว (fully electronic clearance system) แห่งแรกของโลกที่ใช้เวลา ในการดำเนินพิธีการศุลกากรที่ใช้เวลาดำเนินการน้อยที่สุด กรมศุลกากรเกาหลีใต้ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นกรมศุลกากรที่ดีที่สุดในโลกตามดัชนีธนาคารโลก ชื่อว่า "ดัชนีประกอบธุรกิจในประเทศ" ภายใต้หมวดหมู่ "การค้าข้ามพรมแดน" เป็นเวลาหกปีติดต่อกันระหว่างปีพ.ศ.2552 และพ.ศ.2557 ดังนั้น เราสามารถสรุปได้ว่าการปฏิบัติงานของกรมศุลกากรเกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างที่เป็นเลิศในหลายๆด้าน จนกระทั่งได้เป็นมาตรฐาน และบรรทัดฐานสากลใหม่ในกลุ่มสมาชิกขององค์การศุลกากรโลก
เกี่ยวกับ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) เป็นสถาบันระดับภูมิภาคที่ผลักดัน และส่งเสริมนโยบายการค้าและการพัฒนา ที่ยั่งยืนและเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางการเมือง) และเป็นหน่วยงานวิชาการ ซึ่งสคพ.ได้จัดตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีพ.ศ. 2545 ภายใต้มติที่ประชุมสหประชาชาติครั้งที่ 10 ว่าด้วยการค้า และการพัฒนา (อังค์ถัด) ในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 หลังจากได้มีการแจ้งการลดบทบาทของอังค์ถัดในภูมิภาคเอเชียในปีพ.ศ.2544 เป็นต้นไป และให้สคพ. เป็นองค์กรภูมิภาค ที่ผลักดันประเด็นการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียนับจากนั้นมา สคพ.ยังมีความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ และในภูมิภาคต่างๆ (อาทิ อังค์ถัด, องค์การการค้าโลก, คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก, โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, เอเปค, อาเซียน, องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย, บิมสเทค) และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ภารกิจหลักของสคพ. คือการส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถทางนโยบาย และที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบการค้าการลงทุน และการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG 2030 กิจกรรมหลักของสถาบันฯ คือ การฝึกอบรม หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ สัมมนานานาชาติในระดับภูมิภาค งานวิจัยและการพัฒนา และการ จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญผ่านเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาค และนานาชาติ ปัจจุบัน สคพ.ยังเป็นเจ้าภาพสำนักงานของสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภาคพื้นแปซิฟิค (Pacific Economic Cooperation Council: PECC) ของประเทศไทยในปีพ.ศ.2561