กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีเปิด "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย" สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมกันนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. และ นายดิษฐพล สุทธิโอสถ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความปลอดภัย มั่นคงอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม แถลงความร่วมมือระหว่าง วว.และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในด้านความร่วมมือวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีชีวภาพทุกระดับ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาทั้งด้านเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โอกาสนี้ คณะกรรมการบริหาร วว. คณะผู้บริหารระดับสูง วว. ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากการที่ วว. มีผลงานวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านสาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กมาเป็นเวลากว่า 25 ปี วว.ตระหนักถึงศักยภาพและความสำคัญของสาหร่ายขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น ในการตอบสนองธุรกิจอุตสาหกรรม บทบาทในด้านต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-based Economy) วว. นับเป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศที่มีการดำเนินงานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ตั้งแต่การมีคลังเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่าย เพื่อรวบรวมและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดและน้ำเค็มขนาดเล็ก (freshwater and marine microalgae) จากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศพร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล กว่า 1,000 สายพันธุ์ มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง วิเคราะห์ และทดสอบ ที่สำคัญและโดดเด่น คือ วว. มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายกลางแจ้งระดับการเพาะเลี้ยงต่อเนื่องและครบวงจร ปริมาตรรวม 400,000 ลิตร
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย วว. (TISTR Algal Excellent Center, TISTR ALEC) ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย เพื่อพัฒนาทรัพยากรชีวภาพด้านสาหร่าย พร้อมทั้งดำเนินการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ และการบริการที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายแก่ภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นการผลิตชีวมวลสาหร่ายเพื่อเป็นวัตถุดิบ (feedstock) ในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านเกษตร อาหาร เภสัช สิ่งแวดล้อม และพลังงานอย่างยั่งยืน ให้เป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียน
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา วว. มีผลงานด้านสาหร่ายในมิติต่างๆ ทั้งในด้านอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาหร่ายอย่างยั่งยืนโดยการจัดตั้งคลังสาหร่าย วว. ณ เทคโนธานี เป็นการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention Biological Diversity, CBD) ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด (ex situ conservation) และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (sustainable utilization) ด้านการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน ตลอดจนด้านงานบริการ (มีลูกค้าขอรับบริการจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ) ได้แก่ การทดสอบผลิตภัณฑ์สีอิมัลชันทาภายนอกที่ทนทานต่อสาหร่าย บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบด้านสาหร่าย และสารพิษจากสาหร่าย (การประปานครหลวง) เป็นต้น รวมถึง งานบริการวิจัยตามความต้องการของภาคเอกชน เช่น ร่วมงานบริการวิจัยกับ ปตท. ปตท. สผ. บริษัท เดนโซ่ คอร์ปอเรชั่น บริษัท IHI คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น บริษัท มาลีสามพราน บริษัท บางจาก เป็นต้น กอปรกับขีดความสามารถของนักวิจัยในการนำสาหร่ายมาใช้ประโยชน์จากสาหร่ายในด้านต่างๆ และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ในการดำเนินงานด้านสาหร่ายน้ำจืดและน้ำเค็มขนาดเล็กอย่างครบวงจร และโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสาหร่ายอย่างครบวงจรมี
".. วว. เชื่อมั่นว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย วว. มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการยกระดับงานวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการด้านสาหร่าย อย่างครบวงจรกับทุกภาคส่วน เชื่อมั่นว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย วว. จะเป็นกำลังหลักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ THAILAND 4.0" ผู้ว่าการ วว.กล่าวสรุปในตอนท้าย