กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร น้อมนำแนวทางพระราชดำริ มาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร และขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะได้นำองค์ความรู้ที่เป็นผลสำเร็จจากการศึกษา ทดลอง วิจัย จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 ศูนย์ ที่เหมาะสมไปส่งเสริมแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรอย่างกว้างขวาง ผ่านการคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบแนวทางพระราชดำริ ที่มีจิตอาสาในการแบ่งปันความรู้แก่เพื่อนเกษตรกรในชุมชนและผู้ที่สนใจทำเกษตร เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงาน รวมทั้งขยายผลไปยังกลุ่มยุวเกษตรกร ให้เรียนรู้งานพระราชดำริด้วย ทั้งนี้ เป้าหมาย ปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าขยายผลโดยสร้างเครือข่ายเกษตรกร จากจังหวัดที่ตั้งของศูนย์ศึกษาฯ 6 จังหวัด ออกไปในจังหวัดข้างเคียงอีกศูนย์ละ 2 จังหวัด ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น และเหมาะสมตามสภาพพื้นที่จริงของเกษตรกร ผ่านการอบรมให้เกษตรกรมีพลังจิตอาสาและพร้อมขยายผลองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนได้
กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนเกษตรกรต้นแบบโดยอบรมเกษตรกรที่มีความพร้อมให้มีศักยภาพในการเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงและผู้ที่สนใจประกอบอาชีพการเกษตร เช่น นายอุ่นเรือน เกิดสุข เกษตรกรต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ที่น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากศูนย์ไปใช้ประกอบอาชีพการเกษตร ทำเกษตรผสมผสาน ตลอดจนวางแผนการผลิตที่ลดความเสี่ยง สร้างรายได้ตลอดปี ปัจจุบันสนับสนุนให้เป็นแปลงเรียนรู้ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาการทำเกษตรผสมผสาน การปลูกพืชผักเสริมในแปลงไม้ผล การปลูกพืชท้องถิ่นและกาแฟ ตลอดจนการเพาะและแปรรูปเห็ดหลินจือ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่โทรศัพท์ 08 7192 3285 ด้านนายศราวุฒิ เลาว้าง เกษตรกรต้นแบบด้านการพัฒนาการผลิตในพื้นที่พิเศษ จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (เกษตรที่สูง) จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชนเผ่าม้งที่เข้ามาศึกษาการทำเกษตรจากศูนย์ศึกษาฯ กระทั่งสามารถวิเคราะห์ตลาด วางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ และมีทักษะเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอะโวคาโด ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรวางแผนพัฒนาศักยภาพเกษตรกรอีกหลายรายให้เป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้แก่ชุมชนในปี 2562 ต่อไป
การขยายเครือข่ายความรู้จาก 6 ศูนย์ศึกษาฯ ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ขยายผลไปสู่ จ.ลำพูน และ จ.พะเยา ในเรื่องการผลิตไม้ดอก ผักปลอดภัย การปลูกข้าวและเพาะเห็ด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ขยายผลไปสู่ จ.นครพนม และ จ.กาฬสินธุ์ เรื่องการเพาะเห็ด การแปรรูปสมุนไพร และการผลิตผ้าย้อมคราม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา ขยายผลไปสู่ จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี เรื่องการปลูกมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์และการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี ขยายผลไปสู่ จ.ตราด และ จ.ระยอง เรื่องการผลิตผักผลไม้ปลอดภัย การผลิตไม้ดอกในพื้นที่ดินทราย การแปรรูปข้าวกล้องงอกและสมุนไพร รวมถึงการเลี้ยงและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ขยายผลไปสู่ จ.สมุทรสงคราม และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เรื่องการเพาะเห็ด ปลูกผักปลอดภัย และการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ขยายผลไปสู่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี เรื่องการจัดการดินเปรี้ยว การปลูกมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด และการเพาะเห็ดด้วยขี้เลื่อยไม้ยางพารา โดยทุกศูนย์ศึกษาฯ
มีการถ่ายทอดแนวทางการทำเกษตรตามแนวพระราชดำริทั้งสิ้น#
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : นาฏสรวง ข่าว / มกราคม 2562
ข้อมูล: กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร