กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อนาคตประเทศไทยของคนวัยทำงาน
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อนาคตประเทศไทยของคนวัยทำงาน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,064 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 20 - 26 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า
ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 48.2 มองภาพอนาคตประเทศไทยของคนวัยทำงาน หลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะดีขึ้น ร้อยละ 48.0 มองว่าจะเหมือนเดิม และร้อยละ 3.8 มองว่าจะแย่ลง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.0 เชื่อว่า รายได้ในอนาคตจะเหมือนเดิม หลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ในขณะที่เกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 26.3 เชื่อว่า จะดีขึ้น และ ร้อยละ 4.7 เชื่อว่า จะแย่ลง
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.0 ระบุสิ่งที่นักการเมืองต้องเร่งทำมากที่สุดคือ กระตุ้นเศรษฐกิจ รองลงมาคือ ร้อยละ 20.3 ระบุเป็นคนดี ร้อยละ 14.8 ระบุยุติขัดแย้ง และร้อยละ 4.9 ระบุอื่น ๆ เช่น เลือกตั้งให้สงบเรียบร้อย แก้มลพิษ แก้จราจร เป็นต้น
นอกจากนี้ ความต้องการเชิงนโยบายเร่งด่วนมากที่สุด จากนักการเมืองช่วงหาเสียงจากคนวัยทำงาน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.7 ต้องการความสุขในที่ทำงาน (Happy Workplace) เพิ่มสวัสดิการรายได้ รองลงมาคือร้อยละ 18.3 ระบุแก้เศรษฐกิจประเทศ ร้อยละ 6.5 ระบุระบบประกันสังคม รักษาพยาบาล ร้อยละ 2.2 แก้การเอารัดเอาเปรียบ และร้อยละ 16.3 ระบุ อื่น ๆ เช่น แก้ปัญหาว่างงาน ปัญหาสังคม คอรัปชั่น กฎหมายแรงงาน เป็นต้น
ที่น่าสนใจที่ พรรคเพื่อไทยอาจจะฟังทางนี้ เพราะผลสำรวจที่พบหลังสอบถามประชาชน 3 กลุ่มจุดยืนทางการเมือง ว่า ระหว่าง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคเพื่อไทยควรเสนอชื่อใครให้ประชาชนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ทั้งคู่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนสูสีมากเกินจะตัดสินใจได้ โดยภาพรวม ร้อยละ 51.0 ระบุเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในขณะที่ร้อยละ 49.0 ระบุเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และเมื่อจำแนกกลุ่มคนตอบออกเป็น สนับสนุนรัฐบาล คสช. ไม่สนับสนุนรัฐบาล คสช. และ กลุ่มพลังเงียบ พบที่น่าสนใจอีก เพราะ กลุ่มคนพลังเงียบร้อยละ 50.5 ระบุเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในขณะที่ร้อยละ 49.5 ระบุเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นอกจากนี้ กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล คสช. ร้อยละ 54.5 ระบุเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในขณะที่ร้อยละ 45.5 ระบุเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล คสช. ร้อยละ 48.7 ระบุเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในขณะที่ร้อยละ 51.3 ของกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล คสช. ระบุเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ดังนั้น การที่จำแนกกลุ่มประชาชนออกเป็นสามกลุ่มดังกล่าวนี้ อาจถูกนำไปใช้วางกลยุทธ์รณรงค์การเปลี่ยนใจของฐานสนับสนุนการเมืองในแต่ละกลุ่มให้มาสนับสนุนยุทธศาสตร์การตัดสินใจของประชาชนได้ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้เพื่อตอบโจทย์ตามหลักวิชา Brand Switching ได้หรือไม่