กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--โรงพยาบาลวิภาวดี
PM2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน ก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศโดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นที่รับรู้กันว่า PM2.5 เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีใดก็ตาม เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิกหรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHS) เป็นต้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่ม1 ของสารก่อมะเร็งในปี พ.ศ. 2556
เนื่องจาก PM2.5 มีขนาดเล็ก แต่เมื่อแผ่รวมกันแล้วจะมีพื้นผิวรวมกันมากมหาศาล ทำให้มันสามารถนำพาสารต่างๆ ล่องลอยในบรรยากาศรอบตัวเราได้ในปริมาณสูง ทำให้เกิดเป็นหมอกควัน
โดยตัวมันเองและสารหลายชนิดที่อยู่บนผิวของมัน ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ ตามที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและส่งสัญญาณเตือนภัยมานานแล้ว
ปัญหาอนุภาคของฝุ่นละออง PM2.5 มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร
เนื่องจากขนาดที่เล็กของ PM2.5 ทำให้เมื่อมันถูกมนุษย์สูดผ่านรวมเข้าไปกับลมหายใจ สามารถผ่านลงไปได้ลึกจนถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอดเราได้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอยและถุงลมในปอด ด้วยคุณสมบัติขนาดจิ๋วจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางส่วนของมันจึงเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมแล้วซึมผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ ความร้ายกาจของมันต่อปอดของเราเป็นผลจากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ รบกวนดุลแคลเซียมจนทำให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของตัวเราเอง จนเกิดผลร้ายที่สำคัญ 3 ประการคือ
ระยะสั้น เกิดอาการฉับพลัน ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปัญหาของการอักเสบและส่งผลให้ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โรคที่พบ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง ไอ หอบหืด โรคผิวหนังอักเสบและโรคเยื้อบุตาอักเสบ
- ทำให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ระยะยาว เนื่องจากฝุ่นมีขนาดเล็ก ฝุ่นไม่ได้เข้าไปแค่ถุงลมอย่างเดียวยังสามารถผ่านถุงลมเข้าไปในหลอดเลือดแดงได้ เข้าไปในเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กและมีผลทำให้เกิดการอักเสบในเส้นเลือดตามมา ซึ่งก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง อาจกลายเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังส่งผลให้การทำงานของปอดถดถอย จนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มอัตราการตายและการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้น
กลุ่มเสี่ยงไหนบ้างที่ควรระวังมลภาวะจากฝุ่นละออง
- เด็กเล็กเพราะปอดกำลังพัฒนาและร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
- ผู้สูงอายุเพราะอาจมีโรคปอดหรือหัวใจที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย.
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืดเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะฝุ่นละอองอาจกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้น
- ผู้ที่ออกกำลังหรือทำงานกลางแจ้ง เช่น คนขายพวงมาลัย คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะหายใจเร็วและแรงขึ้น
ล่าสุดหลายจังหวัดในประเทศไทยเจอปัญหาฝุ่นละอองในอากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน ปัญหานี้เราควรดูแลตัวเองอย่างไร ควรหลีกเลี่ยงไม่ไปทำกิจกรรมในพื้นที่มีฝุ่นหมอกควันปกคลุม งดออกกำลังกายในที่แจ้ง
ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมผ้าปิดจมูกหรือสวมหน้ากาก N-95 คำแนะนำในการลดปริมาณอนุภาคฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศได้อย่างไร เราสามารถร่วมไม้ร่วมมือควบคุมแหล่งกำเนิดได้โดยลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด และมีเครื่องมือดักจับอนุภาคที่หลงเหลือไม่ให้กระจายตัวออกมาควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด รื้อถอนและทำลายสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้งานแล้วอย่างถูกวิธีหลีกเลี่ยงการเผาป่าและเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม