กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--เจ.ดี. พาวเวอร์
โตโยต้าคว้า 2 รางวัลด้าน APEAL ส่วนมิตซูบิชิ, ฮอนด้า, มาสด้า, เชฟโรเลต และฟอร์ด ได้รับค่ายละ 1 รางวัล
ผลการศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2561 โดยเจ.ดี.พาวเวอร์ (J.D. Power 2018 Thailand Automotive Performance, Execution and Layout (APEAL) Study,SM) เปิดเผยในวันนี้ว่า เครื่องเสียง, ระบบความบันเทิง และระบบนำทาง (AENS) ทำให้เจ้าของรถยนต์รู้สึกว่าตัวรถยนต์มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้น และมีความสำคัญมากที่สุด เมื่อเทียบกับหมวดหมู่อื่นๆ ที่ส่งผลต่อสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์คันใหม่โดยรวม
จากการศึกษาพบว่า คุณลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องเสียง, ระบบความบันเทิง และระบบนำทาง (AENS) ที่ได้รับความพึงพอใจน้อยที่สุด ได้แก่ ความน่าสนใจของจอแสดงผลจากระบบเครื่องเสียงและระบบนำทาง; ความง่ายในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ใช้เล่นเพลงกับตัวรถยนต์; คุณภาพเสียงของการโทร เมื่อใช้การเชื่อมต่อโทรศัพท์ผ่านระบบบลูทูธ(R); รวมถึงลักษณะ และสัมผัสของปุ่มควบคุมเครื่องเสียง
"เป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นสำหรับลูกค้าที่สามารถเชื่อมต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของตัวเองไปพร้อมกับการใช้รถยนต์ — ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เพื่อฟังเพลง หรือใช้แอปพลิเคชันนำทางเข้ากับระบบเครื่องเสียงรถยนต์ — ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ความสามารถในการใช้งานและการออกแบบอุปกรณ์เหล่านี้ต้องมีมาตรฐานสูงสุด" ศิรส สาตราภัย ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค เจ.ดี. พาวเวอร์ ประจำประเทศไทย กล่าว "จากปัจจัยต่างๆ ทั้งหมด เจ้าของรถยนต์พึงพอใจในรถยนต์ของตนเองน้อยที่สุดในด้านเครื่องเสียง/ ระบบสื่อสาร/ ระบบความบันเทิง/ ระบบนำทาง (ACEN) ซึ่งปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของการออกแบบ, ตำแหน่งการจัดวาง และประโยชน์จากการใช้งาน ผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าที่ลูกค้าคาดหวังไว้"
การศึกษาในครั้งนี้ยังพบอีกว่า คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจโดยรวม อยู่ที่ 846 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน) ในปี 2561 โดยเจ้าของรถยนต์อเนกประสงค์ให้คะแนนสูงสุดที่มีต่อความน่าดึงดูดใจของรถยนต์ (855 คะแนน) ตามมาด้วยเจ้าของรถกระบะ (845 คะแนน) และเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (843 คะแนน)
ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมที่ได้จากการสำรวจ ประจำปี 2561:
- ปัญหาด้านคุณภาพที่เพิ่มขึ้น ลดความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อความน่าดึงดูดใจของรถยนต์: ลูกค้าที่รถยนต์ไม่เคยประสบปัญหาด้านคุณภาพมีความพึงพอใจต่อความน่าดึงดูดใจโดยรวมของรถยนต์มากกว่าผู้ที่ประสบปัญหาคุณภาพตั้งแต่ 3 ปัญหาขึ้นไป (861 คะแนน เทียบกับ 809 คะแนน ตามลำดับ)
- การออกแบบพื้นที่เก็บสัมภาระและพื้นที่ว่างต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง: ความพึงพอใจที่มีต่อที่วางแก้วด้านหลัง, พื้นที่เก็บของบริเวณคอนโซลกลาง และช่องเก็บของด้านหน้า รวมถึงพื้นที่อื่นๆ สำหรับผู้โดยสารที่นั่งเบาะด้านหลังแถวที่ 2 (พื้นที่เหนือศรีษะ, พื้นที่สำหรับวางขา และวางเท้า) ได้รับคะแนนน้อยที่สุดจากคุณลักษณะทั้งหมดของโมเดลการศึกษาวิจัยด้าน APEAL
- ผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์คันแรกมีความพึงพอใจน้อยกว่า: ผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรกให้คะแนน APEAL ต่ำกว่าผู้ที่เคยซื้อรถยนต์มาก่อนแล้ว (842 คะแนน เทียบกับ 852 คะแนน ตามลำดับ)
- การออกแบบรูปลักษณ์และการใช้งานที่ดีจะช่วยส่งเสริมแบรนด์ให้ดีขึ้น: Net Promoter Score(R)[1] (NPS) เป็นตัววัดแนวโน้มของลูกค้าที่จะแนะนำยี่ห้อและรุ่นรถที่พวกเขาใช้อยู่ให้กับผู้อื่น จากการให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 10 คะแนน ในปีนี้คะแนน NPS โดยรวมอยู่ที่ 52 คะแนน โดยกลุ่มเจ้าของรถยนต์ใหม่ที่ให้คะแนน 9 หรือ 10 คะแนนในการที่พวกเขาจะแนะนำยี่ห้อรถที่ตัวเองใช้อยู่ (Promoters) ให้คะแนน APEAL สูงถึง 879 คะแนน เมื่อเทียบกับเจ้าของรถยนต์ที่ให้คะแนน 0 ถึง 6 คะแนน (Detractors) ที่ให้คะแนน APEAL เพียง 724 คะแนน
ผลการจัดอันดับจากการศึกษาวิจัย
- มิตซูบิชิ มิราจ ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 849 คะแนน
- ฮอนด้า แจ๊ส ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 846 คะแนน
- มาสด้า3 ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 852 คะแนน
- โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 865 คะแนน
- เชฟโรเลต โคโลราโด เอ็กซ์-แคป และ โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ พรีรันเนอร์ สมาร์ท แคป ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มประเภทรถกระบะตอนขยาย ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 850 คะแนน
- ฟอร์ด เรนเจอร์ ไฮ-ไรเดอร์ ดี-แคป ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มประเภทรถกระบะ 4 ประตู ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 859 คะแนน
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้คำตอบของเจ้าของรถยนต์ในประเทศไทยเป็นมาตรวัดถึงสิ่งที่ทำให้เจ้าของรถมีความพึงพอใจต่อสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์คันใหม่ของพวกเขาในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษานี้ได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์ 76 คุณลักษณะ ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบของรถยนต์ 10 หมวดหมู่ ได้แก่ ภายนอกรถยนต์; ภายในห้องโดยสาร; พื้นที่เก็บสัมภาระและพื้นที่ว่าง; เครื่องเสียง/ ระบบสื่อสาร/ ระบบความบันเทิง/ ระบบนำทาง; เบาะที่นั่ง; ระบบทำความร้อน, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์; สมรรถนะในการขับขี่; เครื่องยนต์/ ระบบเกียร์; ทัศนวิสัย และความปลอดภัยในการขับขี่; และการประหยัดเชื้อเพลิง
การศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ (APEAL) ในประเทศไทย ประจำปี 2561 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถใหม่จำนวน 5,106 รายที่ซื้อรถในช่วงเดือนกันยายน 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน 74 รุ่น จากทั้งหมด 13 ยี่ห้อ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2561