กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--เวเบอร์ แชนวิค
เวทีประกาศผลผู้ชนะเลิศโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปีที่ 3 เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจของทีมผู้ชนะจากทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ที่ส่งผลงานประดิษฐ์สุดสร้างสรรค์เข้าประกวดภายใต้หัวข้อ "Green Innovation นวัตกรรมโลกสีเขียว" จัดโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จับมือพันธมิตรหลัก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเกณฑ์การตัดสินผู้ชนะในปีนี้เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ หรือไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งสองทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศได้ฝ่าฟันทีมคู่แข่งทั้งหมดถึง 399 ทีม โดยรางวัลสายสามัญตกเป็นของโรงเรียนสตรีพัทลุง กับผลงานหุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ และรางวัลชนะเลิศสายอาชีพ ได้แก่ผลงาน Clean Oyster จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์ธานี ที่คว้ารางวัลชนะเลิศติดต่อกันเป็นปีที่สอง ได้ตั๋วบินลัดฟ้าไปจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และกระทบไหล่เมกเกอร์ชาติอื่นๆ ณ เมกเกอร์ แฟร์ เบย์ แอเรีย สหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคมปีนี้
สำหรับผลงานผู้ชนะเลิศสายสามัญ หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จากโรงเรียนสตรีพัทลุง กว่าจะออกมาเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่คว้ารางวัลชนะเลิศได้นี้ 2 หนุ่มเมกเกอร์มือใหม่ นายมานพ คงศักดิ์และนายสุรศักดิ์ ฟองหิรัญศิริ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อายุ 17 ปี ใช้เวลาพัฒนาและต่อยอดถึง 6 ปี โดยจุดเริ่มต้นของการสร้างสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกนี้เกิดจากต้นเหตุบริเวณโรงเรียนของเด็กๆ ที่อยู่ติดกับคลองที่มีน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วโรงเรียนและชุมชนทำให้ทั้งเด็กนักเรียนและชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เมื่อได้ลงมือศึกษาเด็กๆ พบว่า ต้นเหตุของกลิ่นเหม็นคือ คราบน้ำมันที่ถูกปล่อยทิ้งลงในคลองซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย เด็กๆ จึงริเริ่มประดิษฐ์หุ่นยนต์ขจัดคราบสิ่งสกปรกบนผิวน้ำที่ทำจากวัสดุที่มีการคิดค้นมาเป็นอย่างดีว่าสามารถขจัดคราบน้ำมันได้อย่างแท้จริง โดยมีหลักการทำงานคือ ตัวหุ่นยนต์มีการติดกล้องไว้ด้านบนเพื่อใช้ตรวจสอบว่ามีคราบน้ำมันอยู่บริเวณใดบ้างซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงยากได้ และยังช่วยลดงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่เก็บสิ่งปฏิกูลบริเวณแม่น้ำอีกด้วย นอกจากนี้ ตัวหุ่นยนต์นี้มีลูกกลิ้งที่ใช้สำหรับเก็บคราบน้ำมันซึ่งทำงานโดยแบตเตอรี่และโซลาร์เซลล์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้นานขึ้นถึงสามสิบนาที
"พวกผมใช้เวลาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มากว่า 6 ปี กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความพยายามและลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน วันนี้ภูมิใจในความตั้งใจของตัวเองที่ทำสำเร็จไปอีกขั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่มากนัก แต่มันยิ่งใหญ่ในใจของพวกเรา เพราะเป็นแสดงถึงพลังเล็กๆ ของพวกเราที่แสดงออกว่าห่วงใยสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมสามารถดีขึ้นได้ด้วยสิ่งประดิษฐ์ของเรา รวมทั้งยังแสดงให้เห็นว่าพวกเราคนรุ่นใหม่มีความคิดที่จะใช้สิ่งประดิษฐ์แก้ไขปัญหาใกล้ตัวอีกด้วย" ทีมโรงเรียนสตรีพัทลุงกล่าว
ด้านโครงการ Clean Oyster จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์ธานี ผลงานชนะเลิศจากสายอาชีพ จากสองหนุ่มเมกเกอร์เพื่อนซี้ นายนูรุดดีน เจะปี ชั้น ปวส.1 อายุ 19 ปี และนายวัฒนพงศ์ เพชรรัตน์ ชั้นปวส. 2 อายุ 20 ปี น้องๆได้กล่าวว่า "พวกผมได้ไอเดียจากแนวคิดที่ต้องการจะยกระดับคุณภาพ "หอยนางรม" สินค้าขึ้นชื่อของสุราษฎร์ธานีที่ก่อนหน้านี้มียอดขายตกลงมาก เพราะมีคำเตือนเรื่องการบริโภคหอยนางรมที่อาจล้างไม่สะอาดเพียงพอ"
ปัญหานี้เป็นโจทย์ที่พวกเขาอยากจะสร้างนวัตกรรมมาแก้ไข จึงลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรมฟาร์มหอยนางรม นำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาเครื่อง Clean Oyster ที่มีกลไกทำความสะอาดหอยด้วยระบบคลื่นน้ำ ที่ทำหน้าที่หลักสองประการคือทำให้หอยรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอาศัยอยู่ในแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ หอยนางรมก็จะเปิดปาก ให้คลื่นน้ำสามารถเข้าไปพาสิ่งสกปรกออกมาจากตัวหอยนางรม ส่วนสิ่งสกปรกที่ออกมาจากตัวหอยจะถูกกำจัดโดยระบบกรองสามชั้นที่ติดตั้งในเครื่อง Clean Oyster
เริ่มจากการใช้สาหร่ายพวงองุ่นที่ซึ่งจะช่วยดูดซับแอมโมเนียจากตัวหอยและหลังจากนั้นจะมีการกรองหยาบ กรองละเอียดในบ่อที่ 1 และใช้หลักการน้ำล้นให้ไปสู่บ่อที่ 2 ซึ่งมีไบโอบอลทำหน้าที่สร้างออกซิเจนและดักจับสิ่งสกปรกเหนือผิวน้ำ สุดท้ายจะถูกส่งไปที่บ่อกรองที่ 3 ซึ่งเป็นบ่อพักน้ำที่มีแสงยูวีซึ่งสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกทั้งหลายเพื่อนำน้ำกลับไปใช้ใหม่ ทำให้มั่นได้เลยว่าหอยนางรมที่ถูกทำความสะอาดจากเครื่องนี้สะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภค "สิ่งที่ทำให้พวกเราสามารถชนะการแข่งขัน Young Makers Contest ครั้งที่ 3 ได้ คือใจที่มุ่งมั่น ต้องไม่หยุดพยายาม พัฒนาผลงานเรื่อยๆจนประสบความสำเร็จ ต้องขอขอบคุณอาจารย์เกียรติศักดิ์ เส้งพัฒน์ ที่ให้คำปรึกษา ความรู้ และความช่วยเหลือต่างๆ จนพวกเราสามารถประดิษฐ์เครื่อง Clean Oyster ได้สำเร็จ" นายนูรุดดีนกล่าว
ด้านอาจารย์เกียรติศักดิ์ เส้งพัฒน์ อาจารย์ที่ปรึกษาประจำโครงการฯ วิทยาเทคนิคสุราษฎ์ธานี ผู้อยู่เบื้องหลังและผู้ผลักดันให้วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์ธานีคว้าแชมป์การประกวด Young Makers Contest เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน กล่าวว่า "หัวใจของการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ต้องเริ่มจากการคำนึงถึงผู้ใช้งาน ต้องดูว่าผู้ใช้งานต้องการอะไร แล้วคิดสิ่งประดิษฐ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการนั้น ในฐานะที่ปรึกษา ผมจะไม่ลงมือประดิษฐ์เอง แต่จะชี้แนะแนวทาง ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้ลองคิด ลงมือประดิษฐ์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ผมดีใจมากที่นักเรียนในที่ปรึกษาของผมสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้อีกครั้ง และภูมิใจที่ได้เห็นนักเรียนประสบความสำเร็จ นับเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนเป็นครู"
สำหรับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเกียรติบัตรและทุนการศึกษา มูลค่า 60,000 บาท สายสามัญ คือ "Food Cycle" จากโรงเรียน มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม สายอาชีวะ ผลงาน "เครื่องซีลผักสูญญากาศแบบแนวตั้งด้วยแรงดันน้ำ" จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเกียรติบัตรและทุนการศึกษา มูลค่า 30,000 บาท ได้แก่ สายสามัญ คือ "ตะเพียนซีเลอร์" โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายมัธยม) สายอาชีวะ "เครื่องล้างทะลายปาล์มผสมจุลินทรีย์ชีวภาพระบบรีไซเคิลน้ำ"
วิทยาลัยการอาชีพไชยา