กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนมกราคม 2561 ว่า "เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2562 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.5) โดยได้รับแรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า และนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 – 1.5) ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง"
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความผันผวนของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว"