กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--เอไอเอส
เอไอเอส สานต่อความร่วมมือกระทรวงดีอี และกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมการใช้งาน "แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์" เชิดชูหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และอสม. ทันสมัยก้าวสู่ยุค 4.0 สร้างงานสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก มอบโล่เกียรติคุณเป็นปีที่ 2 ทั้งดีเด่นระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับชื่นชม รวม 93 รางวัล ย้ำมุ่งพัฒนาแอปฯต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้ อสม.ใช้เทคโนโลยีเป็นและรอบรู้ด้านสุขภาพพร้อมส่งต่อความรู้สู่ประชาชนให้มีสุขภาพดีหนุนระบบสุขภาพยั่งยืน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตประจำวันของเราในทุกๆด้านอย่างสิ้นเชิง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ที่เรียกกันว่า Digital Disruption เราจึงจำเป็นต้องมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่เข้ามาใหม่ๆ สิ่งสำคัญที่ ทุกคนต้องมีคือทักษะความเข้าใจและความสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ (Digital Literacy) เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆของการดำเนินชีวิตและการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ในฐานะที่เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล หรือ Digital Life Service Provider เรามีเจตนารมณ์ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเป็นศักยภาพของเรามาร่วมสร้างประโยชน์และคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะใน 4 ด้านหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศคือ การศึกษา การเกษตร สาธารณสุข และการพัฒนาส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start Up) ภายใต้แนวคิด "Digital For Thais" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอันเกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลนี้
หน่วยงานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นับเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะการมีคุณภาพชีวิตที่ดีมาจากการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีก่อนเป็นลำดับแรก นั่นคือประชาชนจะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพและบริการสุขภาพได้ มีความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดการตนเองได้ ตลอดจนต้องมีความรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้นบุคลากรด้านสาธารณสุขชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม. ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญระหว่างบริการภาครัฐและการเข้าถึงบริการของภาคประชาชนในแต่ละชุมชน จึงจำเป็นที่ อสม. จะต้องมีความพร้อมทั้งทักษะและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัล
เอไอเอส จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้คนไทยรวมถึง อสม. มีทักษะและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยผ่าน "แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์" ซึ่งเป็นนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคม สำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนและ อสม.ในการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขชุมชนให้เป็นเชิงรุก และหวังว่า อสม.ออนไลน์ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ และทักษะเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ อสม. (Digital Literacy) เพื่อให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชนให้เกิดเป็นความรอบรู้ด้านสุขภาพของชุมชนได้
"ผมมีความมั่นใจว่า อสม.ทุกคนมีความพร้อมและมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นและมีความรอบรู้ด้านสุขภาพสมกับเป็น อสม.4.0 ผมขอชื่นชมและแสดงความยินดีแก่หน่วยบริการสุขภาพและ อสม.ทั้ง 93 แห่งที่ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ในปีที่ 2 นี้ ซึ่งหวังว่ารางวัลนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ไปด้วยกัน" นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ กล่าว
นอกจากนี้ เอไอเอส ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้งานสาธารณสุขเป็นเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้เอไอเอสได้ทำการเชื่อมต่อ อสม.ออนไลน์ กับแอปพลิเคชัน Smart อสม. ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ อสม. สามารถเข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง และเร็วๆนี้จะมีการเปิดให้หน่วยงานในระดับบริหารจัดการ คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ได้ด้วยซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการทำงานของ อสม. และหน่วยงานสาธารณสุขในทุกระดับให้สามารถนำแอปฯอสม.ออนไลน์ ไปใช้ประโยชน์ต่อการจัดบริการสุขภาพที่เหมาะสมกับประชาชนแบบเชิงรุกอย่างแท้จริงเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และระบบสุขภาพยั่งยืน
น.อ. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี กล่าวว่า โลกทุกวันนี้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ประเทศไทยโดยกระทรวงดีอีมีบทบาทในการทำความเข้าใจและศึกษาสถานการณ์เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรอบด้าน กำหนดนโยบายบนฐานความรู้ และเลือกดำเนินนโยบายที่เหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ทุกภาคส่วนในประเทศ ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของกระทรวงดีอี สิ่งสำคัญที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้ความสำคัญตลอดมานั่นคือการนำเทคโนโลยีไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยหนึ่งในนั้นคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมให้เกิดการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน
แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้สังคมไทย พร้อมที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง เพราะ อสม.ออนไลน์ช่วยส่งเสริมทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ อสม. ที่มีมากกว่าหนึ่งล้านคนทั่วประเทศ อีกทั้งช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานในการดูแลสุขภาพของประชาชน ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ นับเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับประเทศไทย ที่ภาคเอกชนอย่าง เอไอเอสให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าตามแนวทางประชารัฐ โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ เศรษฐกิจและสังคมไทยมั่นคงและยั่งยืน"น.อ. สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กล่าว
นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นรากฐานของระบบสุขภาพในระยะ 5 ปี ได้กำหนดเป้าหมายให้ประชาชนไทยมีความรอบรู้สุขภาพ (Health Literacy) การยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน จึงถือเป็นการวางรางฐานที่สำคัญให้กับคนไทยทุกคน เพื่อการมีสุขภาพที่ดีสมวัยในทุกช่วงชีวิต และความรอบรู้ด้านสุขภาพถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญที่จะทำให้ประชาชนไทยรู้เท่าทันสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสาร และสุขภาพของตนเอง ด้วยการกลั่นกรอง ประเมิน และตัดสินใจ ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม โดยอาศัยข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพ จากหลายช่องทางจนสามารถตัดสินใจจัดการสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นช่องทางในการนำข่าวสารหรือความรู้ต่างๆจากหน่วยงานภาครัฐไปสู่ประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน
"แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยทำให้ อสม. สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเหมาะสมกับบริบทอีกทางหนึ่ง และนอกจากนี้ยังช่วยให้การทำงานระหว่าง อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยบริการสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเกิดการบูรณาการในการเอานำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ดูแลสุขภาพประชาชนไทยให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และเกิดการสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนต่อไป"นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี กล่าว